กาญจนบุรี - เปิดระเบียบการเยียวยาราษฎร หากเจ็บ เสียชีวิต บ้านเรือน พืชผลทางการเกษตรเสียหายจากภัยพิบัติคชภัย “ช้างป่า”
วันนี้ (12 ม.ค.) นายวิมล อึ้งพรหมบัณฑิต ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ผอ.ทสจ.) กาญจนบุรี เปิดเผยว่า ปัจจุบันช้างป่าออกหากินทำลายทรัพย์สินพืชผลทางการเกษตร และบ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหายเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะช้างป่าที่อาศัยอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ช้างป่าที่อาศัยอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ และเขตอุทยานแห่งชาติไทรโยค และท้องที่อื่นๆ
โดยเมื่อวันที่ 7 ธ.ค.ที่ผ่านมา ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดกาญจนบุรี ร่วมกับสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) กรมอุทยานฯ ปภ.จังหวัดกาญจนบุรี หน่วยงานภาครัฐและผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ รวมทั้งเกษตรกรได้ร่วมประชุมหารือเกี่ยวกับการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากช้างป่าครอบคลุมทั้งจังหวัดกาญจนบุรีมาแล้วครั้งหนึ่ง
การเยียวยาราษฎรกรณีได้รับความเสียหายจากปัญหาช้างป่าที่ออกมาทำลายพืชผล และสร้างความเดือดร้อนแก่ราษฎรในท้องที่จังหวัดกาญจนบุรี ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2562
“ภัยพิบัติ” หมายความว่า สาธารณภัยอันได้แก่ อัคคีภัย วาตภัย อุทกภัย ภัยแล้ง ภาวะฝนแล้ง ฝนทิ้งช่วง ภัยจากลูกเห็บ ภัยอันเกิดจากไฟป่า ภัยที่เกิดจากโรคหรือการระบาดของแมลง หรือศัตรูพืชทุกชนิด ภัยอันเกิดจากโรคที่แพร่หรือระบาดในมนุษย์ อากาศหนาวจัดผิดปกติ ภัยสงคราม และภัยอันเนื่องมาจากการกระทำของผู้ก่อการร้าย กองกำลังจากนอกประเทศ ตลอดจนภัยอื่นๆ ไม่ว่าเกิดจากธรรมชาติหรือมีบุคคลหรือสัตว์ทำให้เกิดขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิตร่างกายของประชาชน หรือทำให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของประชาชน
“ฉุกเฉิน” หมายความว่า เกิดขึ้นโดยปัจจุบันทันด่วนหรือเป็นที่คาดหมายว่าจะเกิดขึ้นในเวลาอันใกล้และจำเป็นต้องรีบแก้ไขโดยฉับพลัน สำหรับการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีช้างป่า หากปรากฏข้อเท็จจริงว่าเป็นสาธารณภัยที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชนและเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน จำเป็นต้องรีบแก้ไขเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าแก่ประชาชนก็สามารถพิจารณาให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติตามระเบียบและหลักเกณฑ์ที่กระทรวงการคลังกำหนดได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม
โดยให้หน่วยงานในพื้นที่ประสานการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติไปยังจังหวัดท้องที่ที่เกิดภัยโดยตรงทันทีเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง และพิจารณาให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติตามประกาศกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการประกาศเขตการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน
โดยอาศัยอำนาจตามความในข้อ 20 แห่งระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการดังกล่าว กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง จึงให้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินไว้
นายวิมล เปิดเผยอีกว่า กรณีราษฎรเสียชีวิต หรือทุพพลภาพ จะได้รับการช่วยเหลือค่าจัดการศพผู้เสียชีวิตรายละไม่เกิน 29,700 บาท และกรณีผู้ประสบภัยที่เสียชีวิตเป็นหัวหน้าครอบครัวหรือเป็นผู้หารายได้เลี้ยงดูครอบครัวให้พิจารณาช่วยเหลือเงินสงเคราะห์ครอบครัวอีกไม่เกิน 29,700 บาท
กรณีพืชผลทางการเกษตรของราษฎรเสียหายจากคชภัย หรือจากช้างป่า จะได้รับการช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ.2556 ซึ่งกำหนดให้ช่วยเหลือตามจำนวนพื้นที่เพาะปลูกที่เสียหายจริงไม่เกินรายละ 30 ไร่ ในอัตรา ดังนี้ ข้าว ไร่ละ 1,113 บาท พืชไร่ ไร่ละ 1,148 บาท พืชสวนและอื่นๆ ไร่ละ 1,690 บาท
แนวทางในการปฏิบัติขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำหรับการเยียวยาราษฎรที่ได้รับความเดือนร้อนจากช้างป่า 1.เมื่อเริ่มเกิดภัยให้รายงานความเสียหายเข้ามาที่สำนักงานบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดกาญจนบุรี ภายใน 3-5 วัน 2.เพื่อให้จังหวัดพิจารณาประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน เพื่อให้การช่วยเหลือเยียวยาราษฎรต่อไป
และ 3.กรณีไม่ได้ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ที่ประสบปัญหาช้างป่าบุกรุกทำลายร่างกาย ชีวิตทรัพย์สิน และพืชผลทางการเกษตรของราษฎร สามารถดำเนินการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยดังกล่าวได้ภายในขอบเขตอำนาจหน้าที่ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยวิธีการงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2560
โดยการช่วยเหลือผู้ประสบสาธารณภัย หรือภัยพิบัติฉุกเฉิน ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพิจารณาใช้จ่ายงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาดำเนินการให้ความช่วยเหลือประชาชนตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงการคลังโดยอนุโลม และประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ความช่วยเหลือทั่วถึง