ราชบุรี - กรมอุทยานฯ เตือนลูกค้าสั่งอาหารสัตว์ป่าคุ้มครองจานเด็ดระวังคุก 5 ปี ปรับ 5 แสน ตามมาตรา 17 พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2562 ถึงแม้นำซากสัตว์ป่าคุ้มครองไปประกอบเป็นอาหารแล้วก็ตาม ก็สามารถตรวจ DNA ได้
นายนิพนธ์ จำนงสิริศักดิ์ ผอ.สบอ. ที่ 3 (บ้านโป่ง) กรมอุทยานฯ เปิดเผยว่า ตามนโยบายคุมเข้มของผู้บริหารให้สอดส่องการกระทำความผิด ล่าสุด ได้รับแจ้งว่า นายโสภน คนอยู่ เจ้าของร้านอาหารตามสั่ง "เบี้ยว อาหารป่า" ในตลาดสดชื่อดัง ฟิช วิลเลจ ตำบลหนองอ้อ อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กขายอาหารป่าตามสั่ง เก้ง กวาง นกคุ้ม ซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ซึ่งเห็นว่าโฆษณาดังกล่าวเป็นการส่งเสริมให้เกิดค่านิยมในการบริโภคเนื้อสัตว์ป่า มีผลทางอ้อมทำให้เกิดการล่าสัตว์ป่ามาขายเพื่อนำมาประกอบอาหารในร้านค้า ทำให้สัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครองบางชนิดใกล้สูญพันธุ์เพราะค่านิยมในการบริโภคอาหารสัตว์ป่าที่ผิดๆ จากการโฆษณาดังกล่าว
จึงได้มอบหมายให้ นายปรารภ ปฐมเพทาย เจ้าพนักงานป่าไม้ชำนาญงาน เจ้าหน้าที่ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่ากับพวกให้ไปตรวจสอบและประชาสัมพันธ์ตักเตือนร้านขายอาหารป่าตามสั่งดังกล่าว เมื่อวันที่ 15 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยได้แจ้งให้เจ้าของร้านอาหารป่าตามสั่งดังกล่าวทราบว่า เนื้อ หรือซากสัตว์ป่า เก้ง กวาง นกคุ้ม เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ผู้ใดขายหรือขายเพื่อนำไปประกอบอาหารตามสั่งมีความผิดตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 มาตรา 29 โทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
โดยลูกค้าที่มีรสนิยมบริโภคอาหารสัตว์ป่า ผู้สั่งอาหารที่มีส่วนประกอบของเนื้อหรือซากสัตว์ป่าคุ้มครอง เก้ง กวาง นกคุ้ม มารับประทาน ก็มีความผิดตามมาตรา 17 พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2562 ฐานมีไว้ครอบครองเนื้อหรือซากสัตว์ป่าคุ้มครอง โดยมิได้รับอนุญาต ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำและปรับ และถึงแม้นำซากสัตว์ป่าคุ้มครองดังกล่าวไปประกอบเป็นอาหารแล้วก็ตาม ก็สามารถตรวจ DNA ได้ หากตรวจ DNA แล้วพบว่าเป็นประเภทเนื้อสัตว์ชนิดอื่นที่ไม่ใช่สัตว์ป่าคุ้มครอง เจ้าของร้านอาหารตามสั่งดังกล่าวก็จะถูกดำเนินคดีฐานหลอกลวงการขายตามกฎหมาย ระวางโทษจำคุก 3 ปี ปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท และความผิดหลอกลวงผู้บริโภค ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท ซึ่งทางเจ้าของร้านได้เข้าใจเป็นอย่างดี โดยให้เวลาแก้ไขป้ายโฆษณาให้ถูกต้องใน 1 วัน และให้ช่วยประชาสัมพันธ์บอกต่อร้านอาหารอื่นๆ และลูกค้าให้ทราบโดยทั่วกันต่อไปด้วย
ล่าสุด วันนี้ (16 ม.ค.) ตนเองจึงได้ปลอมตัวไปเป็นลูกค้าไปตรวจสอบร้านอาหารป่าดังกล่าว พบว่า นายโสภณ คนอยู่ เจ้าของร้านดังกล่าว ได้ทำการปิดข้อความกวาง เก้ง นกคุ้ม ซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองออกไปจนหมด รวมทั้งปิดข้อความคำว่า "ป่า" ให้เหลือข้อความ ร้านอาหารตามสั่ง "เบี้ยว อาหาร & ตามสั่ง" แต่เพียงอย่างเดียว
นายนิพนธ์ ยังกล่าวต่อไปว่า สำหรับนิยามของ "ซากสัตว์ป่า" ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 มาตรา 4 ซากสัตว์ป่า หมายความว่า ร่างกาย หรือส่วนของร่างของสัตว์ป่าที่ตายแล้ว หรือเนื้อของสัตว์ป่าไม่ว่า จะได้ปิ้ง ต้ม ลม ย่าง ตากแห้ง หมัก ดอง หรือทำอย่างอื่น เพราะฉะนั้นการนำไปประกอบอาหาร ถึงแม้จะนำเนื้อ หรือซากสัตว์ป่าสงวน หรือสัตว์ป่าคุ้มครองไปผัด ปิ้ง ต้ม ยำ ย่าง อื่นๆ แล้วก็ตาม ในทางกฎหมายถือว่า เป็นเนื้อ หรือซากสัตว์ป่าอยู่
จึงขอเตือนร้านอาหารทั้งหลายว่า การเอาเนื้อสัตว์ป่าสงวน หรือสัตว์ป่าคุ้มครองไปประกอบเป็นอาหารตามสั่ง เจ้าของร้านอาหาร และลูกค้ามีความผิดตามกฎหมาย พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครอง พ.ศ.2562 ซึ่งมีโทษหนักจำคุก และปรับ จึงขอให้ร้านอาหาร และลูกค้าที่มีรสนิยมบริโภคสัตว์ป่าทั้งหลายขอให้เลิกรสนิยมในการบริโภคอาหารสัตว์ป่าเสีย นอกจากจะมีโทษหนักแล้ว ยังเป็นการรักษาชีวิตสัตว์ป่าให้คงความสมดุลในธรรมชาติ เพื่อลูกหลานในอนาคตของชาติไทยต่อไปอีกด้วย