xs
xsm
sm
md
lg

อุดรฯ นำร่องติด GPS รถพยาบาล ได้ผลน่าพอใจ เล็งขยายผลรถกู้ชีพอื่นทั่วประเทศ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เวทีลงนามความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน ในการพัฒนาความปลอดภัยของรถพยาบาล (Ambulance Safety Solution) เพื่อผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ปลอดภัย ที่ จ.อุดรธานี
อุดรธานี - ก.สาธารณสุข ผนึกเอสซีจี นำ GPS ติดตามรถพยาบาลฉุกเฉินแบบ Real Time เร็วไม่เกิน 90 กม./ชม. ไปกลับเกิน 400 กม.ใช้คนขับ 2 คน นำร่อง จ.อุดรธานี ชี้ ลดอุบัติเหตุได้จริง ปลอดภัยทั้งผู้ป่วยและบุคลากร เล็งขยายครอบคลุมรถกู้ชีพเครือข่ายอื่นทั่วประเทศ

วันนี้ (21 ธ.ค.) ที่ศูนย์ประชุมมลฑาทิพย์ อ.เมืองอุดรธานี นายแพทย์ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายแพทย์ณรงค์ สายวงศ์ ปลัดกระทรวงสารารณสุข, เรืออากาศเอกนายแพทย์อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ และ นายไพฑูรย์ จิรานันตรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสซีจี โลจิสติกส์ แมเนจเม้นท์ จำกัด

ร่วมกันลงนามความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน ในการพัฒนาความปลอดภัยของรถพยาบาล (Ambulance Safety Solution) เพื่อผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ปลอดภัย จัดโดยกระทรวงสาธารณสุขสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) และบริษัท เอสซีจี โลจิสติกส์ แมเนจเม้นท์ โดยมีอาสาสมัครสาธารณสุขเป็นสักขีพยาน


ข้อมูลปี 2559-2563 เกิดอุบัติเหตุกับรถฉุกเฉินรวม 156 ครั้ง บุคลากรทางการแพทย์ได้รับบาดเจ็บ 139 ราย เสียชีวิต 4 ราย อุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดขึ้นระหว่างส่งต่อผู้ป่วยร้อยละ 80 จากการสอบสวนอุบัติเหตุพบว่า ปัจจัยหลักเกิดจากพฤติกรรมพนักงานขับรถร้อยละ 67 คือ หลับใน ขับรถเร็วเกินกำหนด และฝ่าไฟแดง ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมร้อยละ 31 ได้แก่ ฝนตก ถนนลื่น แสงสว่างไม่เพียงพอ และถูกคู่กรณีชน และปัจจัยเรื่องรถพยาบาลร้อยละ 2 คือ ยางระเบิด

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือชีวิตผู้ป่วยและความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์ จึงกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเกิดอุบัติเหตุรถพยาบาลและความคุ้มครองอุบัติเหตุทางถนน เช่น ติดตั้ง GPS ที่ได้มาตรฐานของกรมการขนส่งทางบก เพื่อกำกับติดตามการใช้รถพยาบาลและพฤติกรมของพนักงานขับรถซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สามารถควบคุมได้ หากพบความเสี่ยงจะมีระบบแจ้งเตือนเพื่อลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ

สำหรับโครงการพัฒนาความปลอดภัยของรถพยาบาล (Ambulance Safety Soltion) ได้นำร่องในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี โดยนำระบบ GPS ปัญญาประดิษฐ์ที่ได้รับการสนับสนุนจากบริษัท เอสซีจี มาใช้ติดตามรถพยาบาลฉุกเฉินแบบครบวงจร ดำเนินการครอบคลุมรถพยาบาลของโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงกลาโหม และโรงพยาบาลเอกชน จำนวน 99 คัน พร้อมตรวจสุขภาพ สมรรถนะการให้บริการของพนักงานขับรถ และจัดทำแนวปฏิบัติเพื่อการขับที่รถพยาบาลปลอดภัย


ประกอบด้วย กำหนดความเร็วไม่เกิน 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ปฏิบัติตามกฎจราจร หากขับรถต่อเนื่องควรหยุดพักทุก 2 ชั่วโมง ระยะเวลาทำงานไม่ควรเกิน 12 ชั่วโมงต่อวัน กรณีนำส่งผู้ป่วยระยะทางไปกลับเกิน 400 กิโลเมตร ควรมีพนักงาน 2 คน เกิน 800 กิโลเมตร ต้องมีการพักค้างคืนระหว่างการเดินทาง ทำให้สามารถติดตามกำกับตลอดเส้นทางการเดินทาง ทั้งระยะทาง ความเร็วรถ พฤติกรรมพนักงานขับรถ ได้แบบ Real Time และมีระบบแจ้งเตือนกรณีเกิดความเสี่ยง เชื่อมโยงไปถึงระหว่างโรงพยาบาลรับ-ส่งผู้ป่วย ให้สามารถเตรียมความพร้อมการให้บริการได้รวดเร็ว จากการประเมินผลการดำเนินการ พบว่า อัตราการเกิดอุบัติเหตุลดลง จึงได้ลงนามเพื่อขยายความร่วมมือให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น


ทั้งนี้ จังหวัดอุดรธานีมีสถิติรถพยาบาลเกิดอุบัติเหตุระหว่างปี 2559-2562 จำนวน 9 ครั้ง แต่ภายหลังดำเนินการดังกล่าวในปีงบประมาณ 2563 ไม่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น จากนี้มีเป้าหมายจะขยายให้ครอบคลุมถึงรถรับส่งผู้ป่วยฉุกเฉิน (กู้ชีพ) ของมูลนิธิและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุดรธานี จะเป็นต้นแบบให้หน่วยบริการได้ศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อขยายการทำงานในระดับเขตและประเทศต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น