เชียงใหม่ - ยืนยัน..สาวหนีโควิด 1G1 ท่าขี้เหล็กกลับไทยก่อนพบติดเชื้อในเชียงราย-เชียงใหม่ ไม่เข้าข่ายซูเปอร์สเปรดเดอร์ แต่พฤติกรรมไทม์ไลน์เสี่ยง ด้านสมาคมไกด์การันตีเชียงใหม่พร้อมรับ นทท.เชื่อประสบการณ์รับมือวิกฤตโรคช่วยเอาอยู่แน่
ความคืบหน้ากรณีสาวไทยผู้สัมผัสผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 จากสถานบันเทิงโรงแรม 1G1 ท่าขี้เหล็ก สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ (พม่า) ก่อนลักลอบข้ามฝั่งกลับไทยผ่านเส้นทางธรรมชาติชายแดนแม่สาย จ.เชียงราย ก่อนที่จะตรวจพบติดเชื้อที่เชียงใหม่ 1 คน เชียงราย 2 คนนั้น
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป ออกมาระบุว่าผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2 ราย ที่พบในจังหวัดเชียงราย เป็นหญิงไทย อายุ 26 และ 23 ปี สสจ.เชียงราย สอบสวนโรคพบว่าผู้ป่วยที่อายุ 26 ปี เป็นพนักงานในสถานบันเทิงแห่งหนึ่งในท่าขี้เหล็ก เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน เริ่มมีอาการไข้ต่ำๆ ไอ ต่อมาทราบข่าวว่าเพื่อนที่ทำงานในสถานบันเทิงแห่งเดียวกันตรวจพบเชื้อโควิด-19 ที่เชียงใหม่ จึงตัดสินใจเดินทางกลับไทยในวันที่ 27 พฤศจิกายน โดยใช้ช่องทางธรรมชาติ พร้อมกับเพื่อนสาวชาวไทย 1 ราย โดยมีผู้นำทางเป็นชาวพม่าซึ่งได้กลับประเทศไปแล้ว
ทั้งคู่เดินทางจากหมู่บ้านต้นทางถึงแม่สาย โดยจักรยานยนต์รับจ้าง (คันที่ 1) แล้วแวะซื้ออาหารและน้ำที่หน้าวัดแห่งหนึ่ง ต่อมาเวลา 09.00 น.(27 พ.ย.) เข้าพักในโรงแรมใน อ.แม่สาย โดยแยกห้องพักกับเพื่อน ช่วงกลางคืนไปซื้ออาหารที่ร้านสะดวกซื้อที่ปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่ง โดยมีพนักงานของโรงแรมพาซ้อนจักรยานยนต์ไปและกลับมาเข้านอนพักที่โรงแรม
28 พฤศจิกายน เวลา 15.00 น. นั่งรถรับจ้าง (คันที่ 2) จากแม่สายไป อ.เมืองฯ ระหว่างทางแวะซื้อของที่ร้านโทรศัพท์ตรงข้ามโรงแรมที่พัก เวลา 17.00 น. ได้ไปตรวจหาเชื้อ SARS-CoV-2 ที่ รพ.เอกชนแห่งหนึ่ง แล้วขอมารับการรักษาต่อที่ รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ เวลา 21.30 น. โดยเข้ารับการรักษาที่ห้องแยกโรคระบบทางเดินหายใจ และวันที่ 29 พฤศจิกายน เวลา 02.00 น. ผลตรวจยืนยันว่าติดเชื้อ SARS-CoV-2 จากศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 1/1 เชียงราย
นพ.โสภณเปิดเผยต่อไปว่า ผู้ป่วยรายนี้ (อายุ 26 ปี) มีผู้สัมผัสใกล้ชิดรวมทั้งหมด 27 ราย เป็นกลุ่มเสี่ยงสูง 4 ราย แบ่งเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิด 2 ราย เป็นเพื่อนหญิงไทย อายุ 23 ปี ที่เดินทางกลับมาจากฝั่งพม่าพร้อมกันกับผู้ป่วย เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน มีอาการไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก ผลตรวจพบเชื้อ ขณะนี้ส่งรักษาที่ รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ และพนักงานโรงแรมที่ขับจักรยานยนต์พาผู้ป่วยไปร้านสะดวกซื้อ 1 ราย ขณะนี้รอผลตรวจ และคนขับจักรยานยนต์รับจ้างที่ 1 จากหมู่บ้านต้นทางถึงโรงแรมแห่งหนึ่งใน อ.แม่สาย รอผลตรวจ และรถรับจ้างที่ 2 จาก อ.แม่สายไป อ.เมืองฯ และ รพ.เอกชน ผลตรวจไม่พบเชื้อ และกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ 23 ราย เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 20 ราย จาก รพ.เอกชน 13 ราย รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ 7 ราย และชุมชน 3 ราย เป็นแม่ค้าร้านอาหาร พนักงานร้านสะดวกซื้อ และพนักงานโรงแรม
ขณะนี้ทาง จ.เชียงราย ได้ดำเนินการสอบสวนและออกมาตรการในการป้องกันการแพร่เชื้ออย่างเข้มข้นทุกมิติ และเตรียมสถานที่กักกันโรคของราชการกำหนด รองรับผู้ที่เดินทางกลับมาจากประเทศพม่า มีการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่ลักลอบเดินทางเข้าเมืองเข้าสู่ระบบการคัดกรองและรักษา ให้ไปรายงานตัว อสม.และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หรือผู้ใหญ่บ้าน แล้วส่งกักตัวตามแนวทาง พร้อมทั้งสำรวจจำนวนคนไทยที่อยู่ในท่าขี้เหล็ก ที่ต้องการกลับ เพื่อดำเนินการรับตัวกลับมาเพื่อกักตัว และดำเนินงานทางกฎหมายกับผู้ที่พาคนลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย
“กรณีเจ้าหน้าที่จับกุมคนไทยหลบหนีเข้าเมือง 4 ราย ที่ข้ามมาจากเมียวดี ฝั่งพม่า และมายัง อ.แม่สอด จ.ตาก ไม่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 2 รายที่พบใหม่ใน อ.แม่สาย จ.เชียงราย แต่เนื่องจากเป็นเวลาที่คาบเกี่ยวกันจึงอาจทำให้สับสนในข้อมูลได้ จึงขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนกจนนำข้อมูลมารวมกัน”
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ต้องขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการต่างๆ ในจังหวัดที่มีชายแดนติดกับพม่า ทั้งโรงแรม คอนโดมิเนียม สถานประกอบการ สถานบันเทิง กิจการร้านค้าต่างๆ หากพบเบาะแสบุคคลที่น่าสงสัยและเข้าข่ายสงสัยติดเชื้อ ไม่ได้ผ่านการกักตัว ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ในพื้นที่โดยด่วน ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะคณะกรรมการโรคติดต่อจะออกคำสั่ง หากไม่ปฏิบัติตามจะมีความผิดตามมาตรา 31 พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มีโทษปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท ส่วนตัวผู้ลักลอบเข้าเมืองโดยใช้ช่องทางธรรมชาติไม่ถุกกฎหมายก็มีความผิดเช่นกัน ดังนั้นขอให้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยการเข้ามาและกักตัว 14 วัน
ผู้สื่อข่าวถามว่า ทั้งกรณีพบผู้ป่วยโควิด-19 คนไทยที่ลักลอบกลับจากพม่าจำนวน 3 รายที่เชียงใหม่ และเชียงราย ถือว่ามีความเสี่ยงเป็นซูเปอร์สเปรดเดอร์ (super spreader) หรือไม่ นพ.โสภณกล่าวว่า จริงๆ แล้วการจะเป็นซูเปอร์สเปรดเดอร์นั้นจะมี 2 ทาง คือ ต้องมีเชื้อมาก และอยู่ในที่มีความเสี่ยงแพร่เชื้อ เช่น รถบัส สถานบันเทิง เป็นต้น แต่เคสเชียงใหม่ที่ไปสถานบันเทิง จากการตรวจสอบยังไม่พบเชื้อ ซึ่งการจะเป็นซูเปอร์สเปรดเดอร์จะมีการแพร่เชื้อจนมีการติดต่อโรค 10 รายขึ้นไป ฉะนั้นรายที่ตรวจพบในเชียงใหม่ไม่มีหลักฐานว่าเข้าข่ายซูเปอร์สเปรดเดอร์ แต่พฤติกรรมถือว่ามีความเสี่ยงเกิดซูเปอร์สเปรดดิง อีเวนต์ (Super spreading event)
อย่างไรก็ตาม เชียงใหม่ซึ่งเป็นจังหวัดท่องเที่ยวสำคัญอันดับต้นๆ ของประเทศ หลังจากที่ได้มีข่าวผู้ติดเชื้อ และปรากฏในไทม์ไลน์ของผู้ป่วยว่าได้ไปยังสถานที่ต่างๆ มากมายในตัวเมืองเชียงใหม่ ก่อนเข้ารับการตรวจและเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลฯ ได้สร้างความตื่นตระหนกให้แก่ชาวเชียงใหม่ และนักท่องเที่ยวที่มีแผนการจะเดินทางมาท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่ในช่วงไฮซีซันฤดูหนาวระหว่างเดือนธันวาคมปีนี้-มกราคมปีหน้า ถือว่าเป็นช่วงพีกหรือช่วงสำคัญสูงสุดของการท่องเที่ยวเชียงใหม่ที่ซบเซาเพราะโควิดมาเกือบจะตลอดทั้งปี แต่เหตุการณ์กลับจะพลิกเป็นตาลปัตร
น.ส.จุลจิรา คำปวง เลขาธิการสมาคมมัคคุเทศก์เชียงใหม่ กรรมการและเลขานุการกองทุน We Love Chiang Mai หน่วยงานภาคเอกชนที่ดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า จากการที่ได้ติดตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและดูการแถลงข่าวของกระทรวงสาธารณสุข ทั้งยังได้สัมผัสกับสถานประกอบการท่องเที่ยวในเชียงใหม่มาโดยตลอด พูดได้เลยว่าเชียงใหม่มีความพร้อมสูงที่จะต้อนรับนักท่องเที่ยวที่จะหลั่งไหลมาเที่ยวในช่วงไฮซีซันนี้ เพราะเราผ่านประสบการณ์ป้องกันโรคร้ายนี้มาได้เป็นอย่างดี
“บอกได้เลยว่าจังหวัดเชียงใหม่เอาอยู่แน่นอน ขอให้อย่าได้ตื่นตระหนก และขอทุกคนให้ความร่วมใจสวมใส่หน้ากากอนามัย และหมั่นทำความสะอาดมือเป็นประจำตามแนวทางป้องกันโรค พร้อมทั้งสถานประกอบการต่างๆ ซึ่งก็มีความพร้อมและมีประสบการณ์ใช้มาตรการควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อโรคอย่างเคร่งครัดเพื่อสร้างความมั่นใจแก่นักท่องเที่ยวกัน”