เพชรบุรี - ไปเพชรบุรีต้องไม่พลาดขนมหวาน ขนมหม้อแกงเมืองเก่าที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “อยุธยาที่มีชีวิต” ยังมีเสน่ห์อีกหลายด้านที่นักท่องเที่ยวอาจจะยังไม่ได้สัมผัส งานวิจัยที่สนับสนุนโดย วช.จะชูให้เอกลักษณ์ความเป็นเมืองเก่าที่มาแต่ยุคทวารวดีโดดเด่นยิ่งขึ้น และนักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสการท่องเที่ยวชุมชนเชิงสร้างสรรค์บนถนนสายวัฒนธรรมบรรทัดฐานใหม่
เสน่ห์ของ จ.เพชรบุรี จะโดดเด่นขึ้นด้วย “โครงการการพัฒนาชุมชนต้นแบบด้วยการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และยั่งยืนเพื่อยกระดับจังหวัดเพชรบุรีสู่เมืองสร้างสรรค์” ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยโครงการดังกล่าวมี รศ.ดร.ประสพชัย พสุนนท์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นหัวหน้าโครงการ
รศ.ดร.ประสพชัย เล่าถึงเสน่ห์ของ จ.เพชรบุรี ว่า เป็นเมืองที่ใกล้กับกรุงเทพฯ ราว 160 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 2 ชั่วโมง มีความโดดเด่นในหลายด้าน ได้แก่ เพชรบุรีเป็น “เมือง 3 วัง” เพราะประกอบด้วย เขาวัง หรือ อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี ซึ่งเป็นพระราชวังในหลวงรัชกาลที่ 4 วังบ้านปืน หรือ พระรามราชนิเวศน์ พระราชวังในหลวงรัชกาลที่ 5 และพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ที่ประทับแปรพระราชฐานในหลวงรัชกาลที่ 6
“เพชรบุรียังเป็น “เมือง 3 ธรรม” มีธรรมชาติทั้งทะเล ภูเขา มีวัฒนธรรมและผู้คนมี “ธรรม” ประจำใจ มีอาหาร 3 รส ได้แก่ เค็ม หวาน เปรี้ยว โดยเค็มจากดอกเกลือบ้านแหลม หวานจากน้ำตาลโตนด และเปรี้ยวจากมะนาวแป้น อีกทั้งยังเป็น “เมือง 3 ทะเล” ได้แก่ ทะเล ทะเลโคลน และทะเลหมอกที่ อ.พะเนินทุ่ง” รศ.ดร.ประสพชัย กล่าวถึงเสน่ห์ของเมืองเพชรบุรี ซึ่งมีศักยภาพที่จะพัฒนาให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และยั่งยืน
รศ.ดร.ประสพชัย กล่าวว่า จ.เพชรบุรี มีขนมหวานที่มีเอกลักษณ์ แม้แต่ก๋วยเตี๋ยวก็ยังมีเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใครเพราะกินคู่กับซอสพริก และบางเจ้าใช้น้ำตาลโตนดด้วย และยังเป็นเมืองที่มีความเก่าแก่ ได้ชื่อว่า “เป็นอยุธยาที่มีชีวิต” เพราะมีวัฒนธรรมที่สืบทอดมาตั้งแต่ยุคทวารวดี เนื่องจากบ้านเมืองไม่ถูกทำลาย วัฒนธรรมจึงสืบทอดต่อมา ทั้งเรื่องอาหาร ศิลปะ ประเพณี และการใช้ชีวิต เช่น วัดกำแพงแลง หรือวัดเทพปราสาทศิลาแลงก็เป็นศิลปะขอม พิธีโล้ชิงช้าวัดเพชรพลี รวมถึงการเป็นแหล่งพาณิชยกรรมที่สำคัญ ซึ่งพบหลักฐานในแม่น้ำเพชรบุรี เช่น คันฉ่องจากเมืองจีนในยุคราชวงค์ถัง
เสน่ห์ของ จ.เพชรบุรี มีทั้งการท่องเที่ยว วัฒนธรรม อาหาร รวมถึงวิถีชีวิต ซึ่ง รศ.ดร.ประสพชัย ระบุว่า ทางจังหวัดเพชรบุรี ต้องตัดสินใจเลือกระหว่างการเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร หรือช่างสิบหมู่ เพื่อชูเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัด โดยทั้ง 2 อย่างล้วนโดดเด่น แต่พิจารณาแล้วอาหารสามารถสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจแก่ประชาชนได้มากกว่า ขณะที่ทักษะด้านช่างสิบหมู่ก็ช่วยเสริมเอกลักษณ์ทางด้านอาหารได้ เช่น การออกแบบปูนปั้นเพื่อเป็นภาชนะอาหาร หรือใช้การแกะสลักหยวกกล้วยเพื่อประดับตกแต่งอาหาร
นอกจากนี้ ทีมนักวิจัยในโครงการยังช่วยกันพัฒนาการท่องเที่ยวตามบรรทัดฐานใหม่ที่นักท่องเที่ยวจะได้รับความสะดวกและปลอดภัย โดยนักท่องเที่ยวจะได้เห็นจุดเช็กอินในชุมชนเมืองเก่ามากขึ้น และมีกิจกรรมการท่องเที่ยวที่สร้างสรรค์ให้นักท่องเที่ยวได้มีส่วนร่วมในรูป รส สัมผัส เช่น กลุ่มนักท่องเที่ยวที่มาเป็นครอบครัวจะได้ทำอาหารร่วมกัน หรือร่วมกันปั้นเซรามิก หรือมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ และจะสร้างจุดถ่ายรูปจุดใหม่เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาจับจ่ายใช้สอยใน จ.เพชรบุรี
“เพชรบุรีติดอันดับ 1 ใน 5 จังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเยือนมากที่สุด แต่ส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวกระจุกตัวที่ อ.ชะอำ จึงมีแนวคิดว่าจะทำให้เกิดการกระจายการท่องเที่ยวสู่พื้นที่อื่นๆ ซึ่งจะเป็นเครื่องมือในการกระจายรายได้และลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งเรามีคติพจน์ที่ล้อมาจากสภาพัฒน์ว่า “ต่อยอดอดีต ปรับปัจจุบัน สร้างคุณค่าสู่อนาคต” รศ.ดร.ประสพชัย กล่าว
โครงการที่ได้รับทุนจาก วช. นี้ยังมีเป้าหมาย ที่จะสร้างอาชีพใหม่ หรืออาชีพเสริมให้แก่ชุมชน โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่อยู่บ้านและพร้อมต้อนรับผู้คน ซึ่งคนกลุ่มนี้สามารถเป็นนักเล่าเรื่อง นักสื่อความหมาย หรือนำเที่ยวได้ เพราะสามารถอธิบายถึงวิถีชีวิต อาหาร ร้านอาหาร วิถีการกินที่มีอยู่ในชุมชนเป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่วิถีดั้งเดิมของชุมชน
โดยส่วนตัว รศ.ดร.ประสพชัย มีความคาดหวังว่า โครงการการพัฒนาชุมชนต้นแบบด้วยการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และยั่งยืนนี้จะช่วยให้จังหวัดเพชรบุรี สามารถยื่นใบสมัครเพื่อเป็นเมืองสร้างสรรค์ขององค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (UNESCO) ได้ อีกทั้งเพิ่มสถานที่ท่องเที่ยวแก่ชุมชน เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยไม่เปลี่ยนวิถีชีวิตคนในชุมชน และพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ขายได้และมีความเชื่อมโยงกับโรงแรมหรือแหล่งที่พักต่างๆ ได้ โดยตอบโจทย์นักท่องเที่ยวว่ามีแหล่งท่องเที่ยวที่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ