‘บุรุษไปรษณีย์’ ฟังเผินๆ ในตอนนี้ดูเหมือนว่าจะกลมกลืนไปกับเหล่าแมสเซนเจอร์หลากสีที่รับ - ส่งสิ่งของต่างๆ ท่ามกลางโลกที่ถูกเชื่อมโยงเข้าหากัน และความสะดวกสบายที่เข้าถึงแทบทุกพื้นที่ แต่ในบางพื้นที่ที่ตั้งอยู่ บนแนวเขาสลับซับซ้อน ถือเป็นเวทีสำคัญในการสวมหัวใจ ‘ไปรษณีย์ไทยใจหล่อ’ ที่เชื่อมโยงพื้นที่เหล่านี้กับคนภายนอก ไปรษณีย์ไทยพาเจาะลึกเบื้องหลังบุรุษฯ ใจหล่อ ‘โก้ ศตวรรตชัย ใหม่โม่ง’ บุรุษไปรษณีย์สังกัด ปณ.แม่ระมาด จังหวัดตาก กับบทบาทบุรุษฯ พื้นที่ห่างไกล เบื้องหลังที่ทำให้ไปรษณีย์ไทย ‘สุดทุกส่ง’ ไม่ว่าพื้นที่ไหน ไปรษณีย์ไทยก็ส่งถึง
• จุดเริ่มต้น...เป็นสะพานเชื่อมขุนเขา
จุดเริ่มต้นอาชีพ ‘บุรุษไปรษณีย์’ ของ ‘โก้ ศตวรรตชัย’ กว่า 8 ปีในเส้นทางอาชีพนี้ ‘โก้’ ได้สานต่องาน นำจ่ายพัสดุในเขตพื้นที่ตำบลแม่ตื่นจากคุณพ่อ รวมระยะเวลาการเป็นบุรุษไปรษณีย์อาชีพของคุณพ่อและลูกชาย กว่า 30 ปี จากแรงบันดาลใจที่เห็นคุณพ่อนำจ่ายในพื้นที่ที่เต็มไปด้วยความยากลำบาก บางครั้งจำเป็นต้องเดิน หรือนอนค้างแรมระหว่างการนำจ่าย ประกอบกับความรักในบ้านเกิดและบทบาทที่สำคัญของการเป็นสะพานเชื่อมชุมชนในพื้นที่ห่างไกลกับคนภายนอกได้อย่างสะดวกสบาย ถือเป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่ที่ทำให้ ‘โก้’ เลือกสานต่ออาชีพ บุรุษไปรษณีย์จากคุณพ่อ
• ภารกิจพิชิต #สุดทุกส่ง
ด้วยพื้นที่กว่า 512.24 ตารางกิโลเมตร หรือกว่า 320,150 กว่าไร่ สำหรับพื้นที่ราบปกติการนำจ่ายในพื้นที่ดังกล่าวอาจทำได้อย่างรวดเร็ว แต่สำหรับตำบลแม่ตื่นที่มีลักษณะภูเขาชันสลับซับซ้อน การเข้าถึงแต่ละฟากฝั่งไม่ใช่เรื่องง่ายและต้องใช้เวลา การอยู่อาศัยของคนในพื้นที่กว่าหมื่นคนอยู่กันเป็นหย่อมบ้านตามภูเขา ประมาณ 3,460 หลังคาเรือน ซึ่งในแต่ละหย่อมบ้านห่างไกลกันการทำงานของ ‘โก้’ ในแต่ละวันจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งในแต่ละรอบการนำจ่าย ‘โก้’ จะใช้เวลานำจ่ายในพื้นที่ประมาณ 2 วัน ด้วยสภาพถนนหนทางที่ยากลำบาก และหากในฤดูฝนถนนฝุ่นที่มองเห็นจะเปลี่ยนเป็นทะเลโคลน ที่ทำให้การนำจ่ายยากลำบากกว่าเดิมไปอีกขั้น
• ระหว่าง...ความเป็นมิตร
จุดแข็งของบุรุษไปรษณีย์ที่ผ่านมากี่ทศวรรษก็ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงคือ “ความใกล้ชิดชุมชน” สำหรับ‘โก้’ บุรุษไปรษณีย์หนึ่งเดียวในพื้นที่แม่ตื่นที่เป็นบ้านเกิดของเขา ความใกล้ชิดกับชาวบ้านถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เขามีกำลังใจในการทำงานในแต่ละวัน โดยในทุกครั้งที่ออกไปนำจ่ายชาวบ้านในพื้นที่มักจะชวนรับประทานอาหารและพูดคุยสารทุกข์สุขดิบ และในบางครั้งเมื่อนำจ่ายจดหมายจนเวลาพลบค่ำไม่สามารถกลับลงไปได้ ชาวบ้านที่สนิทก็จะให้ ‘โก้’ พักกับเขาด้วยก่อนไปทำงานต่อในวันรุ่งขึ้น ‘โก้’ สามารถพูดได้อย่างภาคภูมิใจว่ารักคนในพื้นที่และพวกเขาคือ “กำลังใจและความประทับใจในการทำงานในแต่ละวัน”
• ไม่มีคำว่าท้อ...ในพจนานุกรมของ “คนส่งสุข”
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘เส้นทางสุดหิน’ ของพื้นที่ตำบลแม่ตื่นถือเป็นความท้าทายของบุรุษไปรษณีย์อย่างมาก แต่ด้วย ‘โก้’ เกิดและอยู่ที่นี่ผนวกกับการสานต่ออาชีพที่คุณพ่อรักทำให้ ‘โก้’ มองข้ามอุปสรรคและเปลี่ยนเป็นความ ท้าทายในการทำงานและทำออกมาอย่างเต็มที่ที่สุด และอีกหนึ่งความท้าทายในพื้นที่ตำบลแม่ตื่น ‘ระยะทางที่ห่างไกล’ ของแต่ละหย่อมบ้าน แต่ละพื้นที่ทำให้ ‘โก้’ จะต้องวางแผนเส้นทาง ระยะเวลา และน้ำมันของรถจักรยานยนต์ที่ต้องใช้ในแต่ละครั้งที่นำจ่าย โดยเฉพาะในหน้าฝนที่บางครั้งเข้าถึงหมู่บ้านบางแห่งได้ยาก ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากคนในชุมชน ผู้นำชุมชน ที่เป็นเสมือนคนในครอบครัวเดียวกัน คอยช่วยเหลือเมื่อเกิดอุปสรรคต่างๆ ในเส้นทาง
“จะทำจนกว่าจะไม่มีแรงทำครับ” ประโยคทิ้งท้ายของ ‘โก้’ บุรุษไปรษณีย์ในพื้นที่ห่างไกล ด้วยความตั้งใจ จะทำหน้าที่อย่างดีที่สุด เพื่อส่งต่อจดหมาย สิ่งของ และความสุข ให้กับคนในพื้นที่บ้านเกิด แม้จะเปิดรับสมัครผู้ช่วยของบุรุษฯ ในพื้นที่ แต่ด้วยความหินของเส้นทางจึงยังไม่มีใครกล้ามาทำแต่ ‘โก้’ ก็ยังคงไม่ย่อท้อแม้จะเป็นเพียงคนเดียวที่ต้องนำจ่ายในพื้นที่จากความตั้งใจเป็นสะพานเชื่อมโยงชีวิตผู้คน ความรักในบ้านเกิด และความรักในอาชีพที่เป็นขุมพลังให้บุรุษไปรษณีย์แม่ตื่นมีกำลังใจในการทำงานทุกๆ วัน