ศูนย์ขอนแก่น - ทีเส็บดันผ้าไหมและผ้าทอมือสู่เวทีระดับโลก จัดงาน “ไหมไมซ์” The Silk Road of Isan MICE มุ่งยกระดับผ้าไหม ผ้าทอมือท้องถิ่นอีสานให้โดดเด่น พร้อมผลักดันให้ไหมและผ้าทอมือเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก 27 พ.ย.นี้ ณ โรงแรมอวานี ขอนแก่น
ที่ห้องประชุมประชาสโมสร 1 โรงแรมอวานี ขอนแก่น แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ “ทีเส็บ” จัดแถลงข่าวจัด “งานประชุมนานาชาติเส้นทางไหมสู่อุตสาหกรรมไมซ์ 2020” โดยมีนายวรทัศน์ ธุลีจันทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานแถลงข่าว พร้อมด้วย น.ส.ศุภวรรณ ตีระรัตน์ รองผู้อำนวยการสายงานพัฒนาและนวัตกรรม (สสปน.),
นายสมบัติ กองภา ผู้อำนวยการศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ขอนแก่น, ดร.สุรภีร์ โรจนวงศ์ นายกสมาคมส่งเสริมการค้าหัตถกรรมไทย และนายวิชระวิชญ์ อัครสันติสุข ผู้ก่อตั้งแบรนด์ WISHARAWISH ร่วมแถลงข่าว มีหัวหน้าส่วนราชการ ภาคเอกชน และสื่อมวลชน เข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมาก
ทั้งนี้ การจัดงานประชุมนานาชาติเส้นทางไหมสู่อุตสาหกรรมไมซ์ 2020 ภายใต้ชื่องาน “ไหมไมซ์” The Silk Road of Isan MICE จัดขึ้นเพื่อยกระดับผู้ประกอบการผ้าไหมและผ้าทอมือจากชุมชน วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ ผู้ประกอบการ SMEs หอการค้ากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และกลุ่มผู้ผลิตแบรนด์ผ้าไหมและผ้าทอมือ ด้วยประเด็นสัมมนาผ้าไหม ผ้าทอมือ และไมซ์ระดับนานาชาติ ในรูปแบบไฮบริดอีเวนต์ มีผู้เข้าร่วมงานผ่านระบบออนไลน์กว่า 1,500 ท่าน
พร้อมกับผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 300 คน ณ ห้องประชุมอวานี คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ และห้องประชุมราชพฤกษ์ 1-6 โรงแรมอวานี ขอนแก่น โฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ ในวันศุกร์ที่ 27 พฤศจิกายน 2563 เวลา 08.00-20.00 น.
อุตสาหกรรมการจัดประชุมการเดินทางเพื่อเป็นรางวัล และการแสดงสินค้านานาชาติ หรือไมซ์ ถือเป็นหนึ่งกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศผ่านกิจกรรมต่างๆ ของไมซ์ เช่น การจัดประชุมสัมมนา งานแสดงสินค้า และงานอีเวนต์ระดับนานาชาติ ทีเส็บจึงมีนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ประเทศด้วยอุตสาหกรรมไมซ์
ขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมผ้าไหมและผ้าทอมือของกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งถือเป็นอัตลักษณ์และการเชื่อมโยงวิถีชีวิตของชาวอีสาน สามารถสร้างรายได้และสร้างชื่อเสียงให้แก่ชุมชน ด้วยเหตุนี้ ทีเส็บได้นำจุดเด่นของทั้งสองอุตสาหกรรมมาร่วมผลักดันเพื่อสร้างให้ไหมและผ้าทอมือมีความโดดเด่น และยกระดับสู่ตลาดนานาชาติ พร้อมผลักดันให้ไหมและผ้าทอมือเป็นที่ยอมรับ ตลอดจนสามารถสร้างเส้นทางสายไหมให้แก่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือในฐานะที่เป็นอีกหนึ่งจุดหมายปลายทางของนักเดินทางไมซ์ที่พลาดไม่ได้
นายวรทัศน์ ธุลีจันทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า จังหวัดขอนแก่นรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้เป็นเจ้าบ้านต้อนรับพันธมิตรทุกท่านที่มุ่งมั่นทำงานเพื่อ “ผ้าไหมและผ้าทอมืออีสาน” หนึ่งในอุตสาหกรรมที่สำคัญที่สุด สร้างชื่อเสียงมากที่สุด และสร้างรายได้ทางตรงสู่ชุมชนอย่างเป็นเรื่องเป็นราวมากที่สุด วันนี้เราได้มืออาชีพด้านการจัดงานระดับนานาชาติมาเป็นหัวเรือหลักให้กับไหมอีสาน เกิดเป็นงานที่ผมเองรู้สึกเต็มไปด้วยความหวังว่า ไหมอีสานจะยิ่งรุ่งเรืองเฟื่องฟูไปทั่วโลกในอนาคตอันใกล้”
ด้าน น.ส.ศุภวรรณ ตีระรัตน์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า สสปน.ต้องการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมบูรณาการของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผ้าไหม ผ้ามือทอเป็นอุตสาหกรรมที่โดดเด่นมาก การจัดงานนี้จะรวบรวมองค์ความรู้ผ้าไหม ผ้าทอมือไว้ในงานนี้ ทั้งยังมีวิทยากรกว่า 30 คนจากทั่วประเทศมาให้ความรู้ด้านผ้าไหม ผ้าทอมือ ตั้งแต่การผลิตไปจนถึงการแปรรูป การออกแบบดีไซน์ และมีตัวอย่างสินค้าทั้ง 20 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมาร่วมออกบูทด้วย
การสร้างงานไมซ์ และกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับอัตลักษณ์และเชื่อมโยงวิถีชีวิต แหล่งท่องเที่ยวในอีสาน โดยชูสินค้าประเภทผ้าไหมและผ้าทอมือให้โดดเด่นระดับนานาชาติ เพิ่มพูนองค์ความรู้ให้แก่ชุมชนและประชาชนต่อยอดสินค้าท้องถิ่น พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการให้เข้าใจเรื่องไมซ์ โดยประยุกต์กับผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในท้องถิ่น สร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินค้าและประสบการณ์แก่ชุมชน ตลอดจนประชาสัมพันธ์ภาคอีสานให้เป็นที่รู้จักทั้งระดับประเทศ และนานาชาติได้
ส่วนนายสมบัติ กองภา ผู้อำนวยการศูนย์หม่อนไหม เฉลิมพระเกียรติฯ ขอนแก่น กล่าวว่า “ภาคอีสานนอกจากจะเป็นแหล่งผลิตและจำหน่ายผ้าไหมตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำแล้ว ผ้าไหมยังเป็นภูมิปัญญาที่สามารถพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและไมซ์ได้ ภาคอีสานมีชุมชนทอผ้าไหมจำนวนมากที่พร้อมรองรับนักเดินทาง เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าจะประทับใจและยังเป็นแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น เด็กและเยาวชนได้สืบสานวัฒนธรรมไทย นักเดินทางกลุ่มไมซ์ได้ประสบการณ์แบบใหม่ที่หาไม่ได้จากที่ไหน
ด้าน ดร.สุรภีร์ โรจนวงศ์ นายกสมาคมส่งเสริมการค้าหัตถกรรมไทย กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ซื้อจากทั่วโลกต่างมองหาผ้าที่เป็น “หัตถกรรม” ไม่ใช่งานจากอุตสาหกรรม ผู้สวมใส่ก็มองหาสินค้าที่มีความหมาย มีเรื่องราว ดังนั้น เสน่ห์ผ้าไหมไทยที่ประณีต ละเอียด บรรจง ผ่านการทอจากมือของช่างทอท้องถิ่น เป็นจุดแข็งที่ทั่วโลกมองหา ก้าวต่อไปของผ้าไหมไทยจึงเป็นเรื่องการส่งเสริมด้านตลาด และความคิดสร้างสรรค์เพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่งานผ้าไหมไทย ซึ่งในงานประชุมเส้นทางไหมสู่อุตสาหกรรมไมซ์ 2020 เป็นโอกาสที่ดี ถือเป็นการต่อยอดทั้งเรื่องของธุรกิจ นวัตกรรม รวมถึงองค์ความรู้ภายในงานเดียว
ขณะที่ นายวิชระวิชญ์ อัครสันติสุข ผู้ออกแบบแบรนด์ WISHARAWISH กล่าวว่า “ในมุมกลับกัน บางงานอีเวนต์เราสามารถเอาผ้าไทยที่ราคาไม่แพงมาเพิ่มมูลค่าได้ เช่น ผ้าขาวม้า เราเอามาสกรีนลายเพิ่ม เอาภูมิปัญญาสองชุมชนมาผสมกัน เช่น เอาเทคนิคการย้อมผ้าแบบอีสานไปใช้กับผ้าไหมในภาคอื่นๆ เอาผ้าจากอีสานไปทำบาติกแบบภาคใต้ กลายเป็นงานที่ Limited ไม่เหมือนใคร ความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ซึ่งงานประชุมนานาชาติครั้งนี้น่าจะเป็นคลังความคิดสร้างสรรค์ นักออกแบบสายเลือดใหม่น่าจะได้รับประโยชน์อย่างมาก