ลำพูน - ยุคหลวงพี่ 5 จี..สามนักเรียนโรงเรียนส่วนบุญโญปถัมภ์ออกแบบฝาบาตรติดจีพีเอสโครงงาน “ตักบาตรเติมบุญ” ใส่บาตรไม่ต้องรอนานแค่กดมือถือรู้เลยพระอยู่ไหน จนชนะการประกวดนวัตกรรมวิศวกรรมระดับชาติ
กำลังเป็นที่ฮือฮาและชื่นชมยินดีกันทั่ว..สำหรับโครงงาน "ตักบาตรเติมบุญ" ผลงานของทีมจากโรงเรียนส่วนบุญโญปถัมภ์ จ.ลำพูน ที่ชนะสาขาพลิกฟื้นคืนวิถีชุมชน จากการประกวดนวัตกรรมภายใต้โครงการประกวดทักษะการพัฒนาต้นแบบทางวิศวกรรมระดับประเทศที่ สวทช.จัดขึ้น
ซึ่งเป็นการออกแบบฝาบาตรที่มี GPS คอยติดตามตำแหน่งของหลวงพ่อที่ออกบิณฑบาต เพื่อให้ญาติโยมสามารถทราบตำแหน่งของหลวงพ่อได้แบบ real time ไม่ต้องยืนรอใส่บาตรนานๆ โดยพิมพ์ด้วยเครื่อง 3D Printer มาทดแทนฝาบาตรแบบเดิม และมีการจัดองค์ประกอบของฝาแบบที่สามารถถอดล้างได้ ใช้เส้น Plastic ที่ใช้กับอาหารได้ด้วย (food grade) แถมยังเขียน App สำหรับติดตามหลวงพ่อได้แบบใช้ได้อย่างง่าย
ล่าสุดน้องๆ เจ้าของผลงาน ซึ่งเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนส่วนบุญโญปถ้มภ์ ได้แก่ นายบารมี ปัญญาเฟือน หรือน้องบูม นางสาวศุชานุช รินคำ หรือน้องชมพู่ นางสาวกณิศนันท์ ทองสกุล น้องแยม และนายปกรณ์ กสินฤกษ์ หรืออาจารย์อาร์ต ครูสอนคอมพิวเตอร์ อาจารย์ที่ปรึกษา ยังคงเดินหน้าพัฒนาปรับปรุงโครงงานฝาบาตรติดจีพีเอส ผลงานตักบาตรเติมบุญ ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง
นายบารมี หรือน้องบูม หัวหน้าทีมฯ กล่าวว่า แนวคิดนี้มาจากโอกาสที่ได้ใส่บาตรตอนเช้าก่อนมาโรงเรียนเพราะพ่อแม่ให้ใส่บาตรทุกเช้า พอเข้ามาเรียนในเมืองก็จะเห็นความแตกต่างของการเดินบิณฑบาต เพราะผู้คนไม่ค่อยใส่บาตรกัน พอดีอาจารย์มีโครงการสาขาพลิกฟื้นคืนวิถีชุมชนมาเสนอ ก็เลยรวมตัวกันคิดปรึกษาหารือกันว่าจะทำอย่างไรกับโครงงานนี้ จนได้โครงงานตักบาตรเติมบุญนี้ขึ้นมา
นางสาวศุชานุช หรือน้องชมพู่ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการนำเวอร์ชันเดิมไปใช้จริงก็ได้รับการตอบรับมาว่าตัวฝาบาตรเดิมนั้นมีน้ำหนักมากเกินไปและแอปพลิเคชันใช้งานยากไปสำหรับผู้สูงอายุ เราก็ได้นำมาพัฒนารุ่นใหม่ให้มีน้ำหนักเบาลง ปรับเปลี่ยนตัวโมดูลแจ้งพิกัดของพระสงฆ์ให้มีความเสถียรมากยิ่งขึ้น สำหรับตัวแอปพลิเคชันเราก็ปรับให้ทันสมัยมากขึ้น
นางสาวกณิศนันท์ หรือน้องแยม ได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ส่วนคำแนะนำต่างๆ เราก็มาปรับในส่วนของตัวฝาบาตรด้านบนเราปรับให้มีความแข็งแรง เช่นการทำความสะอาดให้ง่ายขึ้น เป็นต้น