สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ประกาศผลโครงการประกวดทักษะการพัฒนาต้นแบบทางวิศวกรรมระดับประเทศ (FabLab Thailand Student Design and Engineering Project Competition 2020) ตอน “ประลองความคิด ประดิษฐ์นวัตกรรม เพื่อชุมชน” ภายใต้โครงการโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม (Fabrication Lab) เพื่อพัฒนาทักษะความเป็นนวัตกรแก่เด็กและเยาวชนไทย
ดร.ชฏามาศ ธุวะเศรษฐกุล รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า จากที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2561 อนุมัติงบประมาณสนับสนุนโครงการขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบต่อภาคสังคมอย่างกว้างขวาง (Big Rock Project) สวทช.ได้รับมอบหมายดำเนินการโครงการโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม (Fabrication Lab) เพื่อพัฒนาทักษะความเป็นนวัตกรแก่เด็กและเยาวชนไทย
โครงการประกวดทักษะการพัฒนาต้นแบบทางวิศวกรรมระดับประเทศในครั้งนี้เป็นโครงการภายใต้โครงการโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม (Fabrication Lab) ที่จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมและสร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียน นักศึกษา ให้ได้มีโอกาสคิดค้น สร้างสรรค์ พัฒนาต่อยอดผลงานด้วยการออกแบบเชิงวิศวกรรม
ทั้งนี้ ใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ในโครงการฯ รวมถึงเข้าใจและเห็นถึงปัญหาในบริบทชุมชนโดยรอบของสถานศึกษาของตนเอง จนนำไปสู่ความร่วมมือในการวางแผนร่วมกันแก้ไขปัญหา โดยใช้ทักษะการประดิษฐ์จากห้องปฏิบัติการ FabLab เป็นการผลักดันให้เกิดการสร้างนวัตกร สร้างอาชีพ และสร้างชาติต่อไป
สำหรับทีมที่ส่งผลงานประกวด เป็นนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือนักศึกษาระดับ ปวช. ในสังกัดสถานศึกษา ซึ่งในโครงการฯ มีผลงานที่สมัครเข้ามาจำนวน 177 โครงงานจาก 75 สถานศึกษา และได้คัดเลือกผลงานผ่านเข้าสู่รอบสุดท้าย เหลือจำนวน 12 โครงงาน เพื่อตัดสินหาทีมที่ชนะเลิศ จำนวน 3 ทีม โดยแบ่งเป็นสาขา 3 สาขา ได้แก่ สาขาการเกษตรแบบยั่งยืน สาขาพลิกฟื้นคืนวิถีชุมชน และสาขาสร้างสังคมแห่งอนาคต
นายวรกร บุญประสิทธิ์ผล ผู้จัดการฝ่ายขาย ผู้แทนบริษัท เอ็กซ์วายแซดพริ้นติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ ได้ตระหนักถึงคุณค่าด้านการส่งเสริมการศึกษาให้แก่นักเรียน นักศึกษาในประเทศไทย ในช่วงที่เกิดสถานการณ์ COVID-19 ทำให้เห็นถึงประโยชน์ของเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติมากยิ่งขึ้น ในการจัดประกวดครั้งนี้ทางบริษัทฯ ได้สนับสนุนทุน รวมถึงของรางวัล อันได้แก่ เครื่องพิมพ์สามมิติขนาดการพิมพ์ 20x20x20 เซนติเมตร และทุนสนับสนุนกิจกรรมฝึกปฏิบัติการทักษะเชิงวิศวกรรม และการเยี่ยมชมหน่วยงานนวัตกรรมและเทคโนโลยี ณ ไต้หวัน โดยมอบให้แก่สถานศึกษาที่ชนะเลิศในแต่ละสาขา รวม 3 รางวัล
โดยรางวัลชนะเลิศ สาขาการเกษตรแบบยั่งยืน ได้แก่ โรงเรียนแม่สะเรียง “บริพัตรศึกษา” ในผลงาน “โรงเรือนเอื้องแซะ” เป็นโรงเรือนอัจฉริยะที่ทำการทดลองปลูกกล้วยไม้เอื้องแซะ ซึ่งเป็นพันธุ์กล้วยไม้พื้นเมืองที่สำคัญของภาคเหนือที่มีมูลค่าสูงสามารถนำไปสกัดเป็นน้ำหอมกลิ่นธรรมชาติได้ “โรงเรือนเอื้องแซะ” สามารถควบคุมอุณหภูมิ ความชื้น แสงสว่าง รวมถึงปริมาณการให้ปุ๋ยที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต โดยมีการแสดงผลต่างๆ เชื่อมโยงกับระบบ Internet of Things (IoT) ผ่านสมาร์ทโฟน จึงทำให้โรงเรือนฯ ดังกล่าวสามารถปลูกกล้วยไม้เอื้องแซะในต่างพื้นที่ได้ อีกทั้งยังช่วยยืดระยะการออกดอกให้นานขึ้นมากกว่าเดิมถึง 2 เท่า
รางวัลชนะเลิศ สาขาพลิกฟื้นคืนวิถีชุมชน ได้แก่ โรงเรียนส่วนบุญโญปถัมภ์ ลำพูน ในผลงาน “ตักบาตรเติมบุญ” เป็นผลงานสิ่งประดิษฐ์ที่นำเอาอุปกรณ์ ALMS-Tracking จัดเก็บพิกัด GPS ของพระภิกษุขณะบิณฑบาต โดยใช้งานร่วมกับแอปพลิเคชันตักบาตรเติมบุญ ที่ผู้พัฒนาเขียนขึ้นเอง เพื่อรายงานตําแหน่งพิกัดของพระภิกษุบนแผนที่ ช่วยให้ผู้ใส่บาตรทราบถึงพิกัดของพระภิกษุขณะบิณฑบาตฯ ทำให้ไม่ต้องรอใส่บาตรนานและใช้เวลาไปทำกิจกรรมอื่นๆ ได้
รางวัลชนะเลิศ สาขาสร้างสังคมแห่งอนาคต ได้แก่ โรงเรียนวิสุทธรังษี จังหวัดกาญจนบุรี ในผลงาน “อุปกรณ์ช่วยต่อลมหายใจฉุกเฉิน” เป็นอุปกรณ์สําหรับการเลื่อนกระจกรถยนต์ลงในกรณีที่อุณหภูมิภายในห้องโดยสารสูงเกิน 40 องศาเซลเซียส หรือปริมาณก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์สูงเกิน 50 ppm ชุดควบคุมจะสั่งให้มอเตอร์กระจกไฟฟ้ารถยนต์ลดกระจกลงตามค่าที่กําหนดไว้ เพื่อระบายความร้อนและลดปริมาณก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์สะสม ช่วยลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตในรถยนต์ได้