เชียงราย - นอภ.เปิดเวทีเคลียร์ปมโรงไฟฟ้าขยะห้วยสัก-เชียงราย สั่งเทศบาลฯ ยุติโครงการก่อนขัดแย้งบานปลาย หลังชาวบ้านลุกฮือต่อต้านหนัก รอชงผู้ว่าฯ หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน
วันนี้ (28 ก.ย.) นายสมกิจ เกศนาคินทร์ นายอำเภอเมืองเชียงราย จ.เชียงราย ได้เชิญนายนิพนธ์ สารถ้อย นายกเทศมนตรี ต.ห้วยสัก และผู้บริหารเทศบาลฯ รวมทั้งนายธนกิจ ฟักแก้ว อายุ 53 ปี แกนนำและชาวบ้านที่คัดค้าน เข้าหารือกัน กรณีเทศบาลฯ มีโครงการจะก่อสร้างโรงผลิตกระแสไฟฟ้าจากขยะพื้นที่คาบเกี่ยวระหว่างหมู่บ้านดงป่าเหมี้ยง หมู่ 10 และบ้านร่องเผียว หมู่ 24 ต.ห้วยสัก โดยมีกลุ่มชาวบ้านประมาณ 60 คนถือป้ายข้อความต่อต้านโครงการฯ อยู่ด้านหน้าที่ว่าการอำเภอฯ ด้วย
ชาวบ้านที่คัดค้านโครงการเข้าร่วมประมาณ 60 คน พากันถือป้ายคัดค้านอยู่บริเวณด้านหน้าอาคารที่ว่าการ อ.เมืองเชียงรายด้วย ทั้งนี้ การเรียกทั้งสองฝ่ายเข้าหารือเนื่องจากเมื่อวันที่ 26 ก.ย.ที่ผ่านมาได้มีชาวบ้านร่วมลงชื่อคัดค้าน ณ ศาลาประชาคมหมู่บ้านดงป่าเหมี้ยง เมื่อวันที่ 26 ก.ย. โดยมีการชุมนุมถือป้ายจนอาจทำให้เรื่องบานปลายไปได้
ในการประชุม แกนนำชาวบ้านได้แจ้งต่อ อ.เมืองเชียงราย ว่าเทศบาลตำบลห้วยสักได้สำรวจความคิดเห็นและทำประชามติเบื้องต้นเพื่อผลักดันโครงการดังกล่าวโดยมีเป้าหมายจะสร้างใกล้บ่อขยะเดิม ซึ่งเทศบาลนครเชียงราย ซึ่งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ที่อยู่ใกล้กันได้เข้าไปจัดทำเป็นบ่อขยะแบบฝังกลบอยู่ ซึ่งหากมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะขึ้นมาจริงจะส่งผลกระทบต่อ 8 หมู่บ้านใกล้เคียงคือ บ้านร่องเผียว หมู่ 8 บ้านร่องเบ้อ หมู่ 9 บ้านดงป่าเหมี้ยง หมู่ 10 บ้านสันต้นเปา หมู่ 14 บ้านร่องเผียว หมู่ 18 บ้านดอนชุม หมู่ 21 บ้านร่องเผียว หมู่ 24 และบ้านสันต้นเปา หมู่ 28 ทั้งมลพิษจากฝุ่นควันที่ก่อให้เกิดโรคต่างๆ เช่น มะเร็ง โรคระบบทางเดินหายใจ กลิ่นเหม็น ฯลฯ แหล่งน้ำคือหนองสกึ๋น หนองหลวง และแม่น้ำกก เกิดการขนขยะโดยรถบรรทุกเข้าและออกจนทำให้ถนนชำรุดเสียหายและเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ ฯลฯ
ขณะที่เทศบาล ต.ห้วยสักแจ้งว่า มีความจำเป็นในการดำเนินโครงการเพราะปริมาณขยะเพิ่มสูงขึ้นควรต้องหาวิธีการกำจัดอย่างถูกวิธี ซึ่งกรณีของโรงผลิตกระแสไฟฟ้าจากขยะดังกล่าวถือเป็นทางเลือกหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม กลุ่มชาวบ้านยืนยันว่าต้องการให้ยกเลิกโครงการ เพราะเกรงว่าจะได้รับผลกระทบโดยเฉพาะพื้นที่เป็นสถานที่ฝังกลบขยะของเทศบาลนครเชียงรายมาได้นานกว่า 26-27 ปีแล้ว ตามข้อตกลงระหว่างเทศบาล ต.ห้วยสัก และเทศบาลนครเชียงราย ครั้งละ 15 ปี และครั้งล่าสุดเหลือระยะเวลาอีก 8 ปี โดยมีการใช้วิธีการคัดแยกขยะเพื่อนำบางส่วนกลับมาใช้ใหม่หรือรีไซเคิลควบคู่กับการฝังกลบแบบเดิม กระทั่งปัจจุบันเกิดสภาพขยะล้น ชาวบ้านโดยรอบได้รับผลกระทบมาตลอด แต่ล่าสุดนอกจากจะไม่ปรับปรุงปัญหาเดิมยังจะก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะขึ้นอีก จึงเกรงว่าจะได้รับผลกระทบเหมือนเดิมอีก
ด้านนายสมกิจกล่าวว่า ได้แจ้งให้เทศบาล ต.ห้วยสักระงับการดำเนินการผลักดันโครงการไปก่อน เพื่อที่จะนำข้อมูลจากทุกฝ่ายเสนอต่อ นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้พิจารณาและหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก่อนจะแจ้งให้ดำเนินการอย่างไรอีกครั้ง
ทั้งนี้ ในช่วงเวลานี้ให้กลุ่มชาวบ้านยุติการเคลื่อนไหวถือป้ายหรืออื่นๆ ไปพร้อมกันด้วย แต่การจัดกิจกรรมให้องค์ความรู้ตามหมู่บ้านต่างๆ ยังคงทำได้แต่ได้เตือนไม่ให้มีการคุกคามผู้ใดเพราะต่างเป็นญาติพี่น้องกันทั้งนั้น หากเกิดการฟ้องร้องกันขึ้นก็จะยิ่งบานปลายไปกันใหญ่ โดยเฉพาะปัจจุบันมีการเผยแพร่ข้อมูลและภาพผ่านโซเชียลมีเดียจนเรื่องราวไปไกลกว่าความเป็นจริง ขณะที่โครงการยังไม่ได้เริ่มต้นก่อสร้าง และทั้งฝ่ายเทศบาล ต.ห้วยสัก และชาวบ้านก็ไม่เคยมีการประชุมหารือกันมาก่อนเลยโดยครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกจึงต้องขอให้ทุกฝ่ายใจเย็นๆ กันไว้ก่อน
สำหรับปัญหาการจัดการขยะพื้นที่ ต.ห้วยสักดังกล่าวเกิดขึ้นมานานแล้ว โดยเทศบาลนครเชียงรายได้นำขยะไปฝังกลบตามศักยภาพของบ่อขยะบ้านดงป่าเหมี้ยง ที่มีเนื้อที่รวม 95.5 ไร่ วันละประมาณ 120 ตัน กระทั่งทางเทศบาล ต.ห้วยสักได้มีโครงการก่อสร้างโรงผลิตกระแสไฟฟ้าจากขยะ กำลังผลิตไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ สามารถรองรับขยะได้วันละหลายพันตัน ตั้งอยู่ห่างจากบ่อขยะฝังกลบประมาณ 500 เมตร และห่างจากหมู่บ้านดงป่าเหมี้ยงประมาณ 1 กิโลเมตร และหมู่บ้านร่องเผียวประมาณ 2 กิโลเมตร