xs
xsm
sm
md
lg

“กล้วยหอมทองบ้านโคก” ต้นแบบเกษตรแปลงใหญ่ ตลาดนำการผลิต ส่งออกญี่ปุ่น/ส่งขาย 7-11 อีสานบน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกล้วยหอมทองบ้านโคก รวมกลุ่มปลูกกล้วยหอมทอง ส่งขายผลผลิตให้ร้านสะดวกซื้อพื้นที่ 11 จังหวัดอีสานตอนบน
อุดรธานี - ชูวิสาหกิจชุมชนกล้วยหอมทองบ้านโคก อ.สร้างคอม จ.อุดรธานี ตัวอย่างเกษตรแปลงใหญ่ต้นแบบประสบผลสำเร็จ เผยใช้ตลาดนำการผลิต รวมกันปลูกส่งออกญี่ปุ่นและส่งขายร้านสะดวกซื้อ 11 จังหวัดอีสานตอนบนถึงวันละ 15,000 ลูก เล็งขยายพื้นที่ปลูกปีหน้าเป็น 500 ไร่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่แปลงปลูกกล้วยหอมทอง อ.สร้างคอม จ.อุดรธานี กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกล้วยหอมทองบ้านโคก หนึ่งในกลุ่มเกษตรกรเพาะปลูกกล้วยหอมทองที่ประสบผลสำเร็จแห่งหนึ่งของประเทศ จากเป็นแหล่งเพาะปลูกกล้วยหอมทองคุณภาพ ปัจจุบันกลุ่มได้ส่งผลผลิตกล้วยหอมทองให้กับร้านสะดวกซื้อ 7-11 ในเขต 11 จังหวัดอีสานตอนบน ทั้งที่ผ่านมากลุ่มวิสาหกิจชุมชนกล้วยหอมทองบ้านโคก เป็นกลุ่มที่ส่งออกกล้วยหอมทองไปยังประเทศญี่ปุ่นมาแล้ว


นายจักรินทร์ โพธิ์พรม ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกล้วยหอมทองบ้านโคก กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกล้วยหอมทอง ก่อขึ้นเมื่อวันที่ 19 เมษายน 2552 เดิมทีมีสมาชิกแรกเริ่ม 7 คน ต่อมาได้ขยายเครือข่ายออกไปยังจังหวัดหนองคาย สกลนคร และหนองบัวลำภู ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 93 คน ระบบบริหารจัดการนั้นมีการวางแผนการผลิตและการตลาดร่วมกัน เดิมทีนั้นได้เพาะปลูกกล้วยหอมทองปลอดสารเคมี ส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น ตามข้อตกลงระหว่าง คณะกรรมการกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกล้วยหอมทอง กับบริษัท แพน แปซิฟิค จำกัด และคณะกรรมการชุมนุมสหกรณ์ผู้บริโภค พาล ซิสเท็ม เมื่อ 15 มิถุนายน 2552

กล้วยหอมทองปลอดสารเคมีของกลุ่มฯ ได้ส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่นในช่วงเดือนกันยายน 2553 ถึงตุลาคม 2558 โดยมีปริมาณส่งออกจำวนสูงถึงสัปดาห์ละ 10 ตัน แต่ปัจจุบันหยุดส่งออกแล้ว เนื่องจากผลผลิตไม่เพียงพอ และเกิดโรคระบาดกับกล้วยในพื้นที่ ทำให้พื้นที่การปลูกลดลง หลังหยุดส่งออกกล้วยหอมทอง

ทางกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกล้วยหอมทองบ้านโคก ได้เน้นทำตลาดภายในประเทศ ควบคู่กับการพัฒนากระบวนการผลิตให้ได้มาตรฐาน GAP และ GMP โดยเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2558 เริ่มส่งมอบผลผลิตกล้วยหอมทองให้บริษัท ซีพีออลล์ จำกัด (มหาชน) จำนวน 20,000-25,000 แพ็คต่อวัน ปัจจุบันผลผลิตลดลง เหลือจัดส่งประมาณ 15,000 แพ็คต่อวัน เนื่องจากผลผลิตไม่เพียงพอ

นอกจากปลูกกล้วยหอมทองแล้วสมาชิกยังได้ปลูกข้าว และพืชผักสวนครัวควบคู่กัน เฉลี่ยสมาชิกแต่ละรายมีรายได้คนละ 1-2 แสนบาทต่อปี ส่วนรายได้จากการจำหน่ายกล้วยหอมทองของกลุ่มประมาณ 2-3 ล้านบาทต่อเดือน


ด้านนายเอนก รัตน์รองใต้ เกษตรจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกล้วยหอมทองบ้านโคก ถือเป็นกลุ่มเกษตรกรรุ่นใหม่ Young Smart Farmer รุ่นแรกๆ ที่ประสบผลสำเร็จด้านทำการเกษตร เน้นการตลาดนำการผลิต รวมกลุ่มทำเกษตรแปลงใหญ่กล้วยหอมทอง รับซื้อผลผลิตจากสมาชิกนำเข้าโรงคัดแยกและบรรจุหีบห่อ ส่งให้กับบริษัท ซีพีออลล์ จำกัด แต่ก็พบปัญหาการผลิตของกลุ่มเกษตรกร คือผลผลิตกล้วยหอมทองไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด

สำนักงานเกษตรจังหวัดอุดรธานีจึงเข้ามาช่วยเหลือกลุ่มฯ ด้วยการขยายพื้นที่ปลูกกล้วยหอมทองประมาณ 500 ไร่ เพื่อให้ได้ผลผลิตคุณภาพ มีระบบการบริหารจัดการดินและน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ภายใต้กิจกรรมพัฒนาการผลิตกล้วยหอมทองสู่ผู้ประกอบการในปีงบประมาณ 2564 ถือเป็นกลุ่มเกษตรรุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จในการทำการเกษตรแปลงใหญ่ เน้นตลาดนำการผลิต ด้วยการขับเคลื่อนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ที่น่าสนใจกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกล้วยหอมทองบ้านโคกยังมีการเพาะพันธุ์กล้วยหอมทอง ร่วมกับศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 10 จังหวัดอุดรธานี กรมส่งเสริมการเกษตร และเกษตรจังหวัดอุดรธานี รวมถึงการสร้างโรงงานผลิตที่มีมาตรฐาน เน้นคุณภาพ ความสะอาด จัดทำพื้นที่รองรับแผนกต่างๆ เช่น ห้องเปลี่ยนชุด พื้นที่รับวัตถุดิบ ห้องเก็บวัตถุดิบ ห้องคัดแยก ห้องพักวัตถุดิบ ห้องแล็บ ห้องบ่ม ห้องแพก และห้องเก็บสินค้า เป็นต้น


ทั้งนี้ หากมีผู้สนใจร่วมปลูกกล้วยหอมทองเชิงพาณิชย์ สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอสร้างคอม หมายเลขโทรศัพท์ 0-4227-6422 หรือ นายจักรินทร์ โพธิ์พรม ประธานวิสาหกิจชุมชนกล้วยหอมทอง หมายเลขโทรศัพท์ 08-4952-2789 ได้ทุกวันในวันเวลาราชการ


กำลังโหลดความคิดเห็น