เชียงใหม่ - คณะแพทยศาสตร์ ม.เชียงใหม่ เปิด “โครงการผลิตแพทย์นักวิทยาการข้อมูล” หลักสูตร 2 ปริญญา ทั้งแพทยศาสตรบัณฑิต ร่วมกับวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต เพื่อผลิตแพทย์ให้มีความสามารถที่หลากหลาย ทั้งด้านแพทยศาสตร์ และทักษะทางด้านการจัดการข้อมูล
ศาสตรจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี และนายกสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นประธานในพิธีเปิดหลักสูตร “โครงการผลิตแพทย์นักวิทยาการข้อมูล” ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นหลักสูตร 2 ปริญญา เรียน 7 ปี โดยเป็นการรวมหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต กับหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วิทยาการข้อมูล) เพื่อให้ผู้สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรสามารถนำองค์ความรู้ทั้งด้านแพทยศาสตร์ และทักษะทางด้านการจัดการข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล และการประยุกต์ใช้วิทยาการข้อมูลทำการแก้ไขปัญหา หรือสังเคราะห์ความเข้าใจเชิงลึก โดยมีศาสตราจารย์ นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มช. ผศ.ดร.ณัฐ วรยศ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มช. ศ.ดร.ธรณินทร์ ไชยเรืองศรี คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มช. ผศ.ดร.วรวิชญ์ จันทร์ฉาย คณบดีวิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มช. รศ.ดร.รัฐสิทธิ์ สุขะหุต ผู้อำนวยการสำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ มช. และ รศ.นพ.อรรถวุฒิ ดีสมโชค รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มช. ร่วมด้วย เมื่อวันที่ 18 ก.ย. 63 ณ ศูนย์ MTEC ชั้น 4 อาคารเรียนรวม คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ทั้งนี้ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า วิทยาการข้อมูลคือศาสตร์ที่บูรณาการองค์ความรู้จากสายงานวิทยาการและวิศวกรรมด้านคอมพิวเตอร์ คณิตศาสตร์และสถิติ การบริหารจัดการสารสนเทศและธุรกิจ และสายงานในการประยุกต์ใช้ ซึ่งในที่นี้ คือ สาขาแพทยศาสตร์ มาบูรณาการร่วมกัน เพื่อสร้างแนวทาง กระบวนการ หรือระบบการวิเคราะห์ข้อมูลให้ได้มาซึ่งความรู้ ความเข้าใจเชิงลึกจากข้อมูลขนาดใหญ่ หรือข้อมูลที่มีความซับซ้อนสูง โดยนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการฯ และสำเร็จการศึกษาจะสามารถปฏิบัติหน้าที่เป็นแพทย์ที่สามารถนำองค์ความรู้ทางด้านวิทยาการข้อมูลไปใช้ได้ ในลักษณะดังนี้ คือ การนำองค์ความรู้ในด้านวิทยาการและวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณิตศาสตร์และสถิติไปใช้ในทางการแพทย์ เช่น การประมวลข้อมูลภาพ เสียง วิดีทัศน์ หรือข้อความ เพื่อประยุกต์ใช้ในการตรวจรักษาผู้ป่วย ได้แก่ การค้นหาจุดผิดปกติในภาพรังสี (X-ray หรือ CT) หรือการพัฒนาโมเดลข้อมูลในการทำนายโอกาสการแพร่ระบาดของโรคต่างๆ เป็นต้น
ตลอดจนการนำองค์ความรู้ในด้านการบริหารจัดการสารสนเทศ ไปใช้ในการจัดการข้อมูลสารสนเทศในสถานพยาบาล ทั้งในส่วนข้อมูลการรักษาพยาบาล (Medical data) และข้อมูลในระดับองค์กร (Corporate data) เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการสถานพยาบาล โดยใช้ข้อมูลจริงได้อย่างมีประสิทธิผล และการนำองค์ความรู้ในด้านการบริหารจัดการ และศาสตร์องค์รวมของวิทยาการข้อมูลไปรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล ทั้งจากภายในและภายนอกสถานพยาบาล รวมถึงข้อมูลจากแหล่งที่ไม่เคยใช้ เช่น ข้อมูลประเภทอักษรแบบไม่มีรูปแบบ (Unstructured data) จากรายงานต่างๆ ข้อมูลจากเสียงจากบทสัมภาษณ์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเสนอในเชิงนโยบายที่มีข้อมูลรองรับได้
คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บอกด้วยว่า จากสถานการณ์ของโลกในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะด้านข้อมูล และเทคโนโลยีสารสนเทศที่นำมาประยุกต์ใช้ทางการแพทย์ ทั้งด้านการจัดการข้อมูลผู้ป่วย การทำนายกระบวนการรักษาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย หรือการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการสถานพยาบาลด้วยข้อมูลขนาดใหญ่ ประกอบกับแนวคิดจากการประชุมแพทยศาสตรศึกษาแห่งชาติ ครั้งที่ 9 ที่จะผลิตแพทย์ที่ตอบสนองต่อความต้องการที่หลากหลาย เช่น แพทย์ที่มุ่งเน้นชุมชน แพทย์เฉพาะทาง และแพทย์นักวิชาการ ซึ่งการที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยคณะแพทยศาสตร์ และกลุ่มบูรณาการวิชาการด้านวิทยาการข้อมูล ซึ่งประกอบด้วย คณะวิทยาศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี รวมถึงสำนักบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ ได้เสนอโครงการผลิตแพทย์นักวิทยาการข้อมูล
โดยเป็นโครงการต้นแบบที่มีการเชื่อมโยงระหว่าง 2 สาขาวิชา ได้แก่ สาขาวิชาแพทย์ (หลักสูตรปริญญาตรี) และสาขาวิชาวิทยาการข้อมูล (หลักสูตรปริญญาโท) เพื่อให้นักศึษาแพทย์ได้มีความรู้เกี่ยวกับวิทยาการข้อมูล เช่น การวิเคราะห์และจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ ปัญญาประดิษฐ์ การเรียนรู้ของเครื่อง และการจัดการโครงสร้างพื้นฐานด้วยการประมวลผลแบบคลาวด์ เพื่อให้สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในทางการแพทย์ รวมทั้งส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อตอบสนองโจทย์ของสังคมและประเทศไทย ตามยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 และดิจิทัลไทยแลนด์ และแผนพัฒนาการศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ระยะที่ 12 ที่จะผลิตบัณฑิตที่คุณภาพ คุณธรรม และมีทักษะการเป็นพลเมืองโลก สร้างงานวิจัยที่เป็นเลิศ และให้บริการวิชาการที่เกิดประโยชน์แก่สังคม รวมทั้งแนวคิดในการผลิตแพทย์ที่ให้มีความสามารถที่หลากหลาย
ดังนั้น ผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรนี้ จะเป็นผู้ที่มีองค์ความรู้ทั้งด้านแพทยศาสตร์ และทักษะทางด้านการจัดการข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล และการประยุกต์ใช้วิทยาการข้อมูล เพื่อทำการแก้ไขปัญหาหรือสังเคราะห์ความเข้าใจเชิงลึก ซึ่งความได้เปรียบของผู้ที่เรียนในหลักสูตรนี้ คือ การที่มีพื้นที่ที่ใช้เพื่อทำการศึกษาข้อมูลจริง และมีคณาจารย์ที่สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรที่สอดคล้องกับหลักสูตรโดยตรง จึงทำให้ผู้เรียนได้รับทั้งความรู้จากผู้เชี่ยวชาญ และมีข้อมูลให้ทำการศึกษา