ในโลกยุคศตวรรษที่ 21 องค์ความรู้และทักษะด้านสะเต็มศึกษามีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อประเทศในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้เป็นประชากรที่มีคุณภาพ มีทักษะการคิด การเรียนรู้ มีความสามารถในการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ต่างๆ ในการแก้ปัญหาในชีวิตจริงและการประกอบอาชีพในอนาคต ตลอดรวมถึงมีความคิดสร้างสรรค์ที่จะสร้างนวัตกรรมต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศกับนานาชาติ
นอกจากนี้ ความก้าวหน้าของวิทยาการสมัยใหม่หมายถึงโอกาสสำหรับแรงงานที่มีทักษะขั้นสูง ในโลกอนาคตจึงต้องการบุคลากรในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ หรือ สะเต็ม (STEM) เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ดังนั้น การพัฒนาศักยภาพเด็กไทยผ่านสะเต็มศึกษาจึงเป็นวาระสำคัญ
นายไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิตจำกัด กล่าวว่า การพัฒนา “คน” ให้ตอบโจทย์ประเทศเป็นเป้าหมายสำคัญของโครงการ “Thailand Partnership Initiative” หรือที่รู้จักกันภายใต้ชื่อ “Chevron Enjoy Science : สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต” ของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด โดยมุ่งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและสร้างนวัตกรรมของประเทศ ด้วยการพัฒนาการศึกษาในสาขาสะเต็ม มีกรอบระยะเวลาดำเนินการทั้งหมด 7 ปี (พ.ศ.2558-2565) ด้วยงบประมาณกว่า 1,160 ล้านบาท โดยได้ดำเนินการเฟสแรกในระยะ 5 ปี ตั้งแต่เดือนเมษายน 2558 - มีนาคม 2563 เสร็จสิ้นลงแล้ว
“กว่า 57 ปี ที่เราดำเนินธุรกิจในประเทศไทย เรามุ่งมั่นสนับสนุนการพัฒนาพลังคน และส่งเสริมการศึกษาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในสาขาสะเต็ม โครงการ Chevron Enjoy Science เป็นหนึ่งความมุ่งมั่นที่สอดรับกับเจตนารมณ์ของเชฟรอนฯ ในการพัฒนาพลังคน”
“เราเชื่อมั่นมาตลอดว่าสะเต็มคือรากฐานการศึกษาที่สำคัญในการนำพาประเทศไทยให้ก้าวไปสู่การเป็นประเทศที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม และเพิ่มโอกาสในอาชีพต่างๆ ให้กับเยาวชนของเราอย่างเท่าเทียมกัน เรายังคงมุ่งมั่นยกระดับการศึกษาไทย ขยายผลความสำเร็จนี้ ต่อยอดการเรียนรู้ ยกระดับให้เป็นโครงการต้นแบบระดับประเทศ และพร้อมผลักดันสู่ภูมิภาคอาเซียนต่อไป”
โครงการดังกล่าวช่วยวางรากฐานอันสำคัญต่อการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย ผ่านกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ ทั้งการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษาและเยาวชนกลุ่มเป้าหมาย รวมไปถึงการสร้างแรงบันดาลใจในการศึกษาและประกอบอาชีพในสาขาสะเต็มแก่นักเรียนและคนทั่วไป
ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา โครงการฯได้เข้าไปสนับสนุนกิจกรรมของรัฐในการสร้างพื้นฐานทักษะด้านสะเต็มให้กับเยาวชน ส่งเสริมการกระจายโอกาส การลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา สร้างความเท่าเทียมระหว่างสถานศึกษาขนาดใหญ่ โรงเรียนขยายโอกาส และโรงเรียนขนาดเล็ก ได้อย่างเป็นรูปธรรม มีการนำโมเดลที่เหมาะสมกับประเทศไทยมาปรับใช้ โดยมีโรงเรียนเข้าร่วม 724 แห่งทั่วประเทศ มีครูและผู้บริหารสถาบันศึกษาเข้ามาอบรมกว่า 13,000 คน มีนักเรียนเข้าร่วมฝึกทักษะกว่า 2,300,000 คน โดยรวมมีผู้ได้รับผลประโยชน์ทั้งหมดของโครงการมากกว่า 3 ล้านคน นอกจากนี้ ยังร่วมกับมหาวิทยาลัยจัดตั้งศูนย์สะเต็ม 12 แห่งทั่วประเทศ เพื่อเป็นศูนย์กลางบริหารจัดการสื่อการเรียนรู้ พัฒนาครูต้นแบบ พัฒนาหลักสูตร และติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ การสามารถเข้าถึงการศึกษาได้ทุกช่วงวัย การเตรียมความพร้อมด้านอาชีพให้กับเยาวชน และการแนะแนวการศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย เป็นการช่วยพัฒนากำลังคนให้กับอุตสาหกรรมด้านสะเต็มตามแนวนโยบายของรัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โครงการดังกล่าวดำเนินการในรูปแบบ “รัฐร่วมเอกชน” โดยความร่วมมือจากพันธมิตร 8 องค์กรภาครัฐที่มาร่วมขับเคลื่อน อาทิ คุรุสภา สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ฯลฯ ได้ช่วยให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างราบรื่นและประสบผลสำเร็จ
สำหรับเฟสสองในระยะ 2 ปี ตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 – มีนาคม 2565 ได้ร่วมมือกับศูนย์ SEAMEO STEM-ED พันธมิตรใหม่ โดยมีเป้าหมายเสริมสร้างขีดความสามารถขององค์กรภาครัฐและผู้เกี่ยวข้อง เพื่อต่อยอดและสร้างความยั่งยืนให้กับการพัฒนางานด้านสะเต็มศึกษา โดยดำเนินการอย่างสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล
ด้าน ดร.พรพรรณ ไวทยางกูร ผู้อำนวยการ ศูนย์ SEAMEO STEM-ED กล่าวว่า ศูนย์ภูมิภาคว่าด้วยสะเต็มศึกษาขององค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asian Ministers of Education Organization Regional Centre for STEM Education) หรือ ศูนย์ SEAMEO STEM-ED เป็นองค์การระหว่างรัฐบาลส่วนภูมิภาคที่จัดตั้งขึ้นภายใต้มติคณะรัฐมนตรีและความเห็นชอบของกระทรวงศึกษาธิการไทย เมื่อพ.ศ.2562 มีรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ 11 ชาติอาเซียนร่วมเป็นสมาชิก
โดยมีภารกิจหลักเพื่อเป็นศูนย์กลางวิจัยพัฒนา เผยแพร่องค์ความรู้และนวัตกรรมด้านสะเต็มศึกษา พร้อมทั้งให้คำเสนอแนะแก่ผู้กำหนดนโยบายของแต่ละชาติสมาชิก โดยประเทศไทยรับมอบหมายเป็นเจ้าภาพหลักจัดตั้งและบริหารจัดการศูนย์แห่งนี้ ซึ่งเป็น 1 ใน 26 ศูนย์ระดับภูมิภาคของ SEAMEO
ศูนย์ SEAMEO STEM-ED ในฐานะผู้บริหารโครงการ “Thailand Partnership Initiative” หรือ “Chevron Enjoy Science : สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต” ในเฟสสอง จะดำเนินงานโดยเชื่อมโยงกับนโยบายด้านต่างๆ ของรัฐบาล ได้แก่ “พัฒนาการจัดการเรียนรู้ด้านสะเต็ม” ทั้งในและนอกห้องเรียน โดยเน้นพัฒนาครูผู้นำ พี่เลี้ยงวิชาการ เพื่อแนะแนวทางการจัดการเรียนรู้ เพื่อสร้างกำลังคนที่มีทักษะในศตวรรษที่ 21 “เพิ่มแหล่งเรียนรู้ด้านสะเต็มศึกษา” ยกระดับระบบการศึกษาไทย พัฒนาสื่อการเรียนรู้เพื่อสร้างทักษะด้านสะเต็มให้กับผู้เรียน โดยเน้นเผยแพร่ผ่านช่องทางออนไลน์ สามารถเข้าถึงได้ตลอดเวลา
“เสริมสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพและยกระดับคุณภาพโรงเรียน” โดยร่วมมือกับคุรุสภาและหน่วยงานภาคี ทั้งเครือข่ายมหาวิทยาลัย การปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรต่างๆ เพื่อขยายผลโครงการชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional Learning Community หรือ PLC) และโครงการยกระดับคุณภาพวิชาการโรงเรียน (Thailand School Improvement Program หรือ TSIP)
“ริเริ่มโครงการนำร่องสะเต็มศึกษาสู่โลกอาชีพ Career Academies” เพื่อการเตรียมความพร้อมและแนะแนวเยาวชนสู่เส้นทางอาชีพด้านสะเต็ม โดยร่วมมือกับภาครัฐและเอกชน เสริมความรู้ทางวิชาการและทักษะทางวิชาชีพ รวมถึงสร้างประสบการณ์ทำงานที่จำเป็น ให้พร้อมเข้าสู่โลกของอาชีพ “สร้างความตระหนักรู้ด้านสะเต็มศึกษา” เพิ่มขีดความสามารถให้กับองค์กรที่ทำหน้าที่ส่งเสริมการรับรู้ด้านสะเต็มศึกษา เพื่อขยายขอบเขตกิจกรรมการเรียนรู้สะเต็มศึกษานอกห้องเรียน และร่วมงานกับผู้เชี่ยวชาญในระดับนานาชาติ ในการพัฒนาบุคลากรและการจัดการแหล่งเรียนรู้ด้านสะเต็มศึกษา ให้กับหน่วยงานภาคีภาครัฐ
รวมทั้ง ”ส่งเสริมด้านงานวิจัยและนโยบาย” เสริมสร้างศักยภาพของนักวิจัยไทย เพื่อผลิตผลงานวิจัยไทยที่ได้มาตรฐานระดับสากล เพื่อผลักดันนโยบายทางการศึกษา พร้อมทั้งเผยแพร่แนวปฏิบัติที่สำคัญต่อการปฏิรูปการศึกษาไทย โดยผลการวิจัยจะนำเสนอแก่ผู้กำหนดนโยบายทั้งในเวทีการประชุมระดับประเทศและระดับภูมิภาค เพื่อขับเคลื่อนและพัฒนาการศึกษาอย่างยั่งยืนต่อไป