บุรีรัมย์ - สสจ.บุรีรัมย์แจง รพ.ไม่ได้ปกปิดข้อมูลและเลี้ยงไข้ ยันรักษาหนุ่มใหญ่บุรีรัมย์ประสบอุบัติเหตุตามขั้นตอนทางการแพทย์ที่ถูกต้องและเป็นไปตามมาตรฐานการรักษา รวมทั้งแจ้งอาการญาติตลอดเวลา ระบุญาติเคยยื่นขอรับเงินช่วยเหลือ ตาม ม.41 แล้วแต่คณะอนุกรรมการมีมติไม่ให้การช่วยเหลือ
วันนี้ (18 ก.ย.) ความคืบหน้ากรณีที่ นางธัญนันท์ อาจเอื้อม อายุ 45 ปี ชาวบ้านคลองต้อ อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.บุรีรัมย์ ได้นำเอกสารเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล พร้อมรูปถ่ายขณะที่ นายสมชาย อายุ 47 ปี พี่ชาย ซึ่งประสบอุบัติเหตุได้รับบาดเจ็บเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน จ.บุรีรัมย์ เมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ออกมาร้องขอความเป็นธรรม เนื่องจากไม่พอใจหมอ พยาบาล ที่ทำการรักษาพี่ชาย โดยอ้างว่าทาง รพ.ปกปิดข้อมูลอาการของผู้ป่วย แจ้งเพียงว่าไม่ได้เป็นอะไรมาก และไม่ยอมส่งต่อไปรักษายังโรงพยาบาลที่มีแพทย์เฉพาะทาง หรือเครื่องมือทางการแพทย์ที่พร้อมมากกว่า ปล่อยให้พี่ชายอาการทรุดลงถึงยอมส่งต่อ อีกทั้งไม่พอใจพยาบาลที่ปฏิบัติต่อผู้ป่วยรุนแรง จนพี่ชายที่นอนรักษาตัวอยู่ทนความเจ็บปวดไม่ไหว ถึงขั้นเอ่ยปาก “ขอกลับไปตายที่บ้านดีกว่า” ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น
ล่าสุดทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) บุรีรัมย์ได้ชี้แจงเป็นเอกสารเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวว่า จากกรณีนางธัญนันท์ อาจเอื้อม ได้ร้องเรียนผ่านสื่อ ว่าโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดบุรีรัมย์ขาดจรรยาบรรณปกปิดข้อมูลการรักษา มีเจตนาเลี้ยงไข้ไม่ส่งต่อรักษาในโรงพยาบาลที่มีแพทย์เฉพาะทางนั้น จากการตรวจสอบพบว่า นายสมชาย อาจเอื้อม ซึ่งเป็นพี่ชายของผู้ร้องได้เข้ารับบริการเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2563 โดยผู้ป่วยประสบอุบัติเหตุจักรยานยนต์ล้ม และได้รับการส่งตัวมารักษาที่โรงพยาบาลชุมชน (รพ.ประจำอำเภอ) แพทย์ให้การรักษาโดยการใส่สายระบายลมเลือดในช่องอกข้างซ้าย จากกระดูกซี่โครงหักหลายท่อน และมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อน คือมีเลือดออกในช่องเนื้อหุ้มปอด การรักษาก็คือการใส่สายระบายทรวงอก สังเกตการหายใจ ตรวจความเข้มข้นของเลือด ให้ออกซิเจน และสังเกตปริมาณเลือดออกทุกวันตามคำแนะนำโดยแพทย์เฉพาะทางด้านศัลยศาสตร์ประจำโรงพยาบาลนางรอง
และในส่วนของกระดูกไหปลาร้าข้างซ้ายหัก ไม่มีแผลภายนอก แผนการรักษาคือเป็นการใส่สายคล้องแขนพยุง ไม่ต้องรักษาด้วยการผ่าตัดและสามารถติดได้เองภายใน 6-8 สัปดาห์ แต่เนื่องด้วยผู้ป่วยยังมีสายระบายที่ใส่ในช่องอก จึงยังไม่ได้ให้สายพยุงแขนเพื่อรักษาภาวะกระดูกไหปลาร้าหักในตอนนั้นได้ เพราะต้องรักษาภาวะกระดูกซี่โครงหักก่อน ซึ่งต่อมาหากเมื่อลุกนั่ง/เดินได้ จึงจะรักษาภาวะกระดูกไหปลาร้าหักต่อไป
ทั้งนี้ แพทย์ที่ทำการรักษาแจ้งว่าได้ชี้แจงสภาวะของโรค และแนวทางการรักษาให้ผู้ป่วยและญาติฟังในเบื้องต้นแล้วแต่ก็ไม่พอใจในประเด็นการแจ้งการวินิจฉัยที่ไม่ครบถ้วน ทั้งการพบว่ากระดูกไหปลาร้าหักมาตรวจสอบพบภายหลัง มีความแตกต่างระหว่างโรงพยาบาลชุมชนกับโรงพยาบาลบุรีรัมย์ในประเด็นที่กระดูกซี่โครงพบว่าหักเพิ่มขึ้น ซึ่งพยายามอธิบายว่าเกิดขึ้นได้เนื่องจากศักยภาพ เครื่องมือ การให้การรักษาของโรงพยาบาลบุรีรัมย์ที่สูงกว่า และแพทย์เฉพาะทางที่มีประสบการณ์สูง อาจเป็นประเด็นการวินิจฉัยที่เพิ่มเติมเข้ามาในรายละเอียดได้ ซึ่งไม่ถือว่าโรงพยาบาลดังกล่าวปกปิดข้อมูลใดๆ
และการรักษายังเป็นไปตามมาตรฐาน ซึ่งได้ปรึกษาทั้งในโรงพยาบาลนางรอง และบุรีรัมย์ ตลอดการรักษาในโรงพยาบาลชุมชนจนกระทั่งได้ส่งต่อ การเคลื่อนย้ายขณะให้บริการก็จะมีความเจ็บปวดได้มากเพราะกระดูกหักย่อมเจ็บปวดได้ตามลักษณะปกติทั่วไปของตัวโรค แพทย์ก็ได้ให้ยาบรรเทาปวดเป็นช่วงๆ ต่อมาเมื่อผู้ป่วยมีเลือดออกมาจากสายระบายทางช่องอกมากขึ้น มีค่าความเข้มข้นเลือดลดลง จึงได้ส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลบุรีรัมย์ตามแผนการรักษาที่ปรึกษาไว้ต่อไป ซึ่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ให้การรักษาจนผู้ป่วยกลับบ้านได้ และมีความเห็นว่ากระดูกซี่โครงหัก และภาวะเลือดออกภายในช่องอก โดยได้รับการรักษาจากโรงพยาบาลชุมชนด้วยการใส่สายระบายทรวงอกนั้นเหมาะสมแล้ว และดูแลเบื้องต้นได้ถูกต้อง ส่วนภาวะซี่โครงหัก กระดูกจะติดกันใช้เวลาประมาณ 8 สัปดาห์
จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นได้ว่าผู้ป่วยได้รับบริการทางการแพทย์ที่ถูกต้องและเป็นไปตามมาตรฐานการรักษาแล้ว มิได้มีเจตนาเลี้ยงไข้ หรือปกปิดข้อมูลการรักษาแต่อย่างใด และในกรณี นางธัญนันท์ อาจเอื้อม ได้ยื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีได้รับความเสียหายจากการรักษา ตามมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 แล้ว และคณะอนุกรรมการได้พิจารณาคำร้องประกอบความเห็นของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแล้วเห็นว่า กรณีดังกล่าวโรงพยาบาลดังกล่าวได้ให้บริการตามมาตรฐานการให้บริการภายใต้คำแนะนำของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแล้ว และการบาดเจ็บดังกล่าวเป็นไปตามพยาธิสภาพของโรค ไม่ใช่เกิดจากการรักษา จึงมีมติไม่ให้การช่วยเหลือกรณีดังกล่าว