เพชรบุรี - ชาวบ้านทั้งหมู่บ้านกว่า 60 ครอบครัว เดือนร้อนหนักเข้าออกบ้านไม่ได้ หลังโครงการรถไฟรางคู่ทำแนวรัวกันรางรถไฟกลายเป็นที่ดินตาบอด ไม่สามารถเข้าออกบ้านของตนเองได้
วันนี้ (17 ก.ย.) เวลา 12.00 น. ที่ศาลากลางหมู่บ้าน บ้านสถานีรถไฟ ม.6 ต.หนองศาลา อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี นายธเนศ นาเมือง ปลัดอำเภอชะอำ นายเปื่อน พุ่มเงิน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองศาลา พร้อมด้วยนายดุสิต สัมมาทิฏฐิ ผู้ช่วยสารวัตรรถจักรธนบุรี คณะกรรมการท้องถิ่นตรวจร่วมในโครงการก่อสร้างรถไฟรางคู่ ตัวแทนจากการรถไฟแห่งประเทศไทย บริษัทรับเหมาชิโนไทย ผู้ควบคุมโครงการก่อสร้างรถไฟรางคู่ ผู้นำชุมชน และชาวบ้านกว่า 30 คน ได้เดินทางมาร่วมตัวกันร่วมพูดคุยหาทางออกเกี่ยวกับปัญหาการรถไฟฯ ทำแผงเหล็กกัั้นระยะทาง กว่า 3 กิโลเมตร ส่งผลให้ชาวบ้านหมู่บ้านสถานี ต.หนองศาล ทั้งหมู่บ้านไม่สามารถเข้าออกบ้านของตนเอง และภายในหมู่บ้านได้
หลังจากที่ได้รับเรื่องร้องเรียนจากชาวบ้านในพื้นที่ ต.หนองศาลา อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ว่าได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก จากโครงการรถไฟรางคู่เข้ามาดำเนินการทำแผงเหล็กกั้นพื้นที่ของการรถไฟฯ ซึ่งติดกับถนนและประตูเข้าบ้านของชาวบ้าน อักทั้งยังปิดกั้นทางเข้าออกหมู่บ้านจนชาวบ้านทั้งหมู่บ้านไม่สามารถเข้าออกได้ ทำให้ประชาชนที่มีบ้านเรือนอยู่ติดกับพื้นที่การรถไฟฯ จำนวน 60 หลังคาเรือน กว่า 200 คน ได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก ไม่สามารถเข้าออกบ้านได้ และพื้นที่การเกษตรของชาวบ้านที่มีพื้นที่ติดกับการรถไฟฯ ไม่สามารถเข้าไปทำการเกษตรได้ตามปกติ และมีการปิดกั้นทางน้ำไม่มีท่อระบายน้ำ หรือรางน้ำ ทำให้เกษตรกรไม่มีน้ำทำำการเกษตร และอาจส่งผลกระทบต่อการระบายน้ำในช่วงหน้าฝน ทำให้ที่อยู่อาศัยถูกน้ำท่วมได้รับความเสียหายทั้งหมู่บ้าน
ด้าน นายเปื่อน พุ่มเงิน นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองศาลา กล่าวว่า วันนี้ชาวบ้าน ต.หนองศาลา ได้รับความเดือดร้อนจากการรถไฟฯ ที่ทำแผงเหล็กกั้นขอบเขตรถไฟ ทำให้ชาวบ้านไม่มีทางเข้าออกหมู่บ้าน และไม่มีทางเข้าออกของพืชผลทางการเกษตร โดยชาวบ้านได้ให้ตนไปประสานงานกับผู้รับเหมาที่เข้ามาดำเนินการทำโครงการรถไฟรางคู่
เบื้องต้น จากการพูดคุยกัน การรถไฟฯ และผู้รับเหมาโครงการมีแนวทางที่ดีโดยให้ข้อสรุปว่า ให้ทางองค์การบริหารส่วนตำบลหนองศาลา ทำแนวเขตหรือถนนทางเข้าหมู่บ้าน ยื่นเรื่องไปให้การรถไฟแห่งประเทศไทย หลังจากนั้น ให้ทางการรถไฟฯ พิจารณาและทำสัญญาเช่า ทำถนนให้แก่ชาวบ้านได้ใช้เข้าออกในหมู่บ้านเป็นรายปี หรือ 5 ปี โดยทางชาวบ้านเห็นพ้องต้องกัน ให้ทางองค์การบริหารส่วนตำบลหนองศาลา ดำเนินการในเรื่องดังกล่าว ทำให้ชาวบ้านพึงพอใจในระดับหนึ่ง
นายดุสิต สัมมาทิฏฐิ คณะกรรมการท้องถิ่นตรวจร่วมในโครงการ ตัวแทนการรถไฟฯ กล่าวว่า การพูดคุยในวันนี้ได้รับทราบว่าชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนจริง เรื่องทางเข้าออกหมู่บ้าน และทางน้ำในการทำการเกษตรปลูกข้าว