พิษณุโลก - อปท.โวยรัฐสั่งลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเยียวยาผู้ประกอบการสู้โควิด ทำรายได้หายวูบ ทต.พลายชุมพล ยอมรับห้างฯ ใหญ่เคยจ่าย 5 ล้านเหลือ 5 แสนบาท ต้องลดชั้น จนท.ท้องถิ่นสังเวย
นายสมพงษ์ โพธิ์สะวัง นายกเทศมนตรี ต.พลายชุมพล อ.เมืองพิษณุโลก เปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ผ่านมา อปท.หลายแห่งได้รับผลกระทบการบริหารจัดการงบประมาณของรัฐบาล อันดับแรกคือ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่ง ทต.พลายชุมพลได้ประมาณการรายรับ 12 ล้าน ในปี 62 ที่ผ่านมายอดที่เก็บได้คือสูงกว่า 12 ล้านบาท
แต่ปี 63 นี้ เมื่อตรวจเช็กภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่รัฐบาลประกาศใช้ปัจจุบันทำให้ไม่สามารถเก็บภาษีที่ดินตามประมาณการไว้ได้ โดยเก็บภาษีได้เพียง 5 ล้านบาทเท่านั้น เพราะตามมติ ครม.ให้ชดเชยหรือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ลักษณะคือ จากเดิมภาษีที่ต้องเก็บ 100 บาท มติ ครม.สั่งว่าจะต้องเก็บเพียง 10 บาท
ส่วน 90 บาทที่หายไปเพื่อจ่ายชดเชยแก่ผู้ประกอบการหรือผู้ที่เสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ทำให้ผู้ประกอบการขนาดใหญ่บางราย จากเดิมต้องจ่ายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเข้า ทต.พลายชุมพล 5 ล้านบาท แต่วันนี้เหลือเพียง 5 แสนบาท ทำให้เกิดผลกระทบต่อการบริหารงบประมาณอย่างรุนแรง
นายก ทต.พลายชุมพลกล่าวต่ออีกว่า การเยียวยาให้แก่ผู้ประกอบการท้องถิ่นเป็นสิ่งที่ดี แต่ยอดเงินภาษีที่หายไปทำให้ อปท.อีกหลายแห่งได้รับผลกระทบเหมือนกับเทศบาลพลายชุมพลเช่นกัน ซึ่ง ทต.พลายชุมพลได้รับผลกระทบอันดับ 1 คือ แผนงานโครงการต่างๆ ที่บรรจุไว้ตามแผนงาน และได้ทำประชาคมกับประชาชนไว้นั้น วันนี้คงไม่สามารถทำงานตามแผนงานหรือเทศบัญญัติงบประมาณได้
นอกจากนี้ แผนงานรายจ่ายประจำ ซึ่งระเบียบท้องถิ่นระบุว่า เงิน 100 บาทสามารถใช้จ่ายได้ไม่เกิน 40 บาท แต่ ณ วันนี้เงินรายได้ภาษีที่เทศบาลฯ ได้รับต่ำกว่า ปัญหาก็เกิดขึ้น คือจะต้องปรับลดอัตรากำลังลง คนที่ทำงานเป็นลูกจ้างภารกิจปรับเป็นพนักงานทั่วไป และพนักงานทั่วไปต้องปรับเป็นจ้างเหมา ซึ่งเป็นแก้ปัญหาในขั้นแรกก่อนเพราะยังไม่มีตกงาน
แต่ผลกระทบที่ตามมา คือ เงินเดือนของลูกจ้างภารกิจ ที่ส่วนใหญ่ได้รับเงินเดือนประจำเฉลี่ย 16,000-17,000 บาท ซึ่งหลายคนต้องนำไปชำระเงินกู้ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ยอดเงินแต่ละเดือนคงเหลืออยู่ไม่มากนัก แต่พอถูกปรับภารกิจลงมา หรือลดชั้นไปเป็น “พนักงานทั่วไป” ซึ่ง ทต.พลายชุมพลจะจ่ายให้เพียง 10,000 บาทถ้วนๆ เท่านั้น ย่อมสร้างผลกระทบต่อครอบครัวของพนักงาน อปท.แน่นอน
ทั้งนี้ ตน และนายมานพ ปัทมาลัย นายกเทศมนตรีตำบลท่ามะเขือ จังหวัดกำแพงเพชร นายกสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย นายวีระวัฒน์ ภักตรนิกร นายกเทศมนตรีเมืองยโสธร ดร.เสกสรร นิยมเพ็ง นายกเทศมนตรีเมืองเพชรบูรณ์ นายไชยยศ ไชยพฤกษ์ นายกเทศมนตรีตำบลอุ่มเม้า นายแสน ผิวละออ นายกเทศมนตรีตำบลวังยาง และนายจรัญ วงศ์สวัสดิ์ เลขาธิการสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย เข้าพบ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อ 3 สิงหาคม 2563 เพื่อยื่นหนังสือในประเด็น เรื่อง เทศบาลกับผลกระทบรายได้ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ที่ลดลง และการประมาณการรายรับ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ที่ส่งผลกระทบต่อภาระค่าใช้จ่ายด้านการบริหารงานบุคคล และประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ของเทศบาล
แต่ถ้าหากหน่วยงานต้นสังกัดของ อปท.นิ่งเฉย ข้อเรียกร้องต่างๆ ไม่มีผลคืบหน้าใดๆ ในการประชุมสันติบาตแห่งประเทศไทยที่ จ.เชียงใหม่ วันที่ 4-6 ตุลาคมนี้ อปท.หลายแห่งจะยกระดับการขับเคลื่อนแน่นอน