xs
xsm
sm
md
lg

ปี 67 สร้างแน่! รถไฟฟ้าโมโนเรลพัทยา หลังเสียงประชาชนพื้นที่กว่า 80% หนุน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวศรีราชา - อิงเสียงส่วนใหญ่ชาวพัทยากว่า 80% หนุนก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าโมโนเรล แก้ปัญหาจราจร ยกระดับขนส่งรับ EEC คาดเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2567 ภายใต้มูลค่าลงทุน 26,000 ล้านบาท ระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี

วานนี้ (20 ส.ค.) นายเกียรติศักดิ์ ศรีวงษ์ชัย รองปลัดเมืองพัทยา เป็นประธานการประชุมรับฟังความคิดเห็นหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชนที่มีส่วนได้เสียจากโครงการศึกษาความเหมาะสมออกแบบและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเมืองพัทยาในรูปแบบรถไฟฟ้า ครั้งที่ 3 ซึ่งจัดขึ้นที่ศูนย์ประชุมมหาไถ่ พัทยา โดยมี นายพงศ์ทวี เลิศปัญญาวิทย์ ผู้จัดโครงการร่วมชี้แจงความคืบหน้าการดำเนินงาน

ขณะที่ นายพงศ์ทวี ผู้จัดโครงการศึกษาความเหมาะสมโครงการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเมืองพัทยาในรูปแบบรถไฟฟ้า บอกว่า การจัดประชุมรับฟังความเห็นทั้ง 3 ครั้ง เพื่อนำเสนอผลการศึกษาทางด้านวิศวกรรม และผลการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน รวมทั้งมาตรการป้องกันแก้ไขและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม มาเป็นข้อคิดเห็นในการแก้ไขเพิ่มเติมรายงานการศึกษาให้มีความครบถ้วน ก่อนส่งให้เมืองพัทยาพิจารณา

โดยการจัดรับฟังความคิดเห็นใน 2 ครั้งที่ผ่านมา พบว่าประชาชนในพื้นที่มากถึง 80% เห็นด้วยกับการดำเนินโครงการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเมืองพัทยาในรูปแบบรถไฟฟ้าระบบรถรางเบา หรือโมโนเรล แต่ก็มีประชาชนบางส่วนที่เกิดความกังวลใจในเรื่องพื้นที่การก่อสร้าง เนื่องจากถนนพัทยาสาย 2 มีความคับแคบ ดังนั้น หากมีการก่อสร้างโครงการใหญ่เกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อการจราจร และอาจจะทำให้สภาพภูมิทัศน์ของเมืองพัทยาไม่สวยงาม


บริษัทที่ปรึกษาจึงได้นำขอคิดเห็นดังกล่าวมาปรับปรุงแก้ไขจนออกมาเป็นรูปแบบที่นำเสนอต่อที่ประชุมในครั้งสุดท้าย พร้อมนำเสนอรูปแบบรถไฟฟ้าแบบโมโนเรลที่เป็นระบบเดียวกับที่มีการดำเนินงานในกรุงเทพฯ ทั้งสายสีชมพูและสายสีเหลือง

ทั้งนี้ รถไฟฟ้าระบบโมโนเรลจะมีรูปแบบเป็นโครงสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กที่สูงกว่าระดับถนนเดิม ซึ่งจะทำให้การก่อสร้างมีผลกระทบน้อยเนื่องจากมีเพียงพื้นที่ก่อสร้างตอม่อ หรือ Pier ที่กว้างเพียง 1.8 เมตร ขณะที่งบการลงทุนน้อยกว่าระบบอื่นๆ

ที่สำคัญเหมาะกับพื้นที่ผิวถนนเดิมของเมืองพัทยาที่มีความกว้างไม่มาก ซึ่งระบบโมโนเรล ถือว่าเป็นระบบที่ดีที่สุด และส่งผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด


สำหรับเส้นทางโครงการนำร่องจะอยู่บนถนนพัทยาสายสอง เนื่องจากไม่มีอาคารที่มีความสูงเกิน 4 ชั้น จึงทำให้การยกระดับไม่จำเป็นต้องใช้ความสูงที่อาจส่งผลต่องบประมาณในการลงทุน โดยการจัดทำสถานีจอดบริเวณเส้นทางนี้อาจต้องมีการเวนคืนที่ดินบ้าง เช่น ริมถนนมอเตอร์เวย์ด้านทิศใต้เลียบรั้วตลอดแนว เพื่อไม่ให้รบกวนเส้นทางหลัก

ส่วนจุดที่ 2 คือ บริเวณหน้าห้าง Terminal 21 และ 3.บริเวณแยกทัพพระยา ตลอดเส้นทางจะมีจุดจอดรวม 13 จุด และการจัดทำแผนดำเนินการหลังผ่านการรับฟังความคิดเห็นและกระบวนการด้านสิ่งแวดล้อมไปแล้วก็จะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่ออนุมัติโครงการ

โดยคาดว่าจะเริ่มการก่อสร้างได้ในปี 2566-2567 และจะเปิดให้บริการในช่วงปี 2570 ภายใต้มูลค่าการลงทุนรวม 26,000 ล้านบาท ในระยะเวลาสัมปทานรวม 30 ปี




รองนายกเมืองพัทยา ย้ำการพัฒนาระบบขนส่งมีความจำเป็น

ด้าน นายเกียรติศักดิ์ ศรีวงษ์ชัย รองปลัดเมืองพัทยา กล่าวว่า เมืองพัทยาเป็นเมืองที่มีศักยภาพทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว แต่ปัจจุบันกลับประสบปัญหาการจราจรติดขัดอย่างหนัก โดยเฉพาะพื้นที่ใจกลางเมืองซึ่งเป็นย่านเศรษฐกิจสำคัญซึ่งเป็นผลจากการเจริญเติบโตของเมือง

และยังพบว่าสาเหตุหลักของปัญหาการจราจรในเมืองพัทยา คือ การขนส่งสาธารณะที่ไม่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเพียงพอ จึงให้ประชาชนในพื้นที่เลือกเดินทางด้วยยานพาหนะส่วนตัวจนเกิดปัญหาการจราจรติดขัดและมลพิษทางอากาศ

วันนี้ เมืองพัทยาจึงมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเพื่อรองรับการเดินทางให้ครอบคลุมที่พักอาศัยและแหล่งกิจกรรมต่างๆ รองรับจำนวนประชากรและนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มเพิ่มมากยิ่งขึ้น และยังจะต้องเป็นการดำเนินการที่สอดคล้องต่อโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี เพื่อยกระดับเมืองพัทยาให้เป็นเมืองเศรษฐกิจชั้นนำของอาเซียน รวมทั้งส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ




และที่ผ่านมา ได้มีการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา เพื่อศึกษาความเหมาะสมออกแบบ และศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะเมืองพัทยา ที่นอกจากจะเป็นการจัดทำแผนพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะและโครงข่ายในเขตพื้นที่เมืองพัทยาและเชื่อมต่อกับพื้นที่โดยรอบแล้ว

ยังเป็นการเชื่อมต่อระบบโดยสารจากสถานีรถไฟฟ้าความเร็วสูง เพื่อพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพให้เกิดการเชื่อมต่อในพื้นที่ที่มีศักยภาพทางด้านการคมนาคม เศรษฐกิจและการท่องเที่ยว

โดยเฉพาะการศึกษาความเหมาะสมและการออกแบบรายละเอียดของโครงการนำร่องของระบบขนส่งสาธารณะในรูปภาพรถไฟรางเบา หรือระบบขนส่งสาธารณะรูปแบบอื่นที่มีประสิทธิภาพ และศึกษาถึงประโยชน์ผลดี ผลเสีย และผลกระทบต่อประชาชนรวมทั้งสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น