อุทัยธานี - หนุ่มโรงงานพลิกวิกฤตโดนสั่งพักงานสกัดโควิด-19 ยาวถึง 3 เดือน ขอดเงินเก็บหลักพันสร้างธุรกิจเพาะเลี้ยงหนูนา ทำเงินงามจับขายทั้งพ่อพันธุ์แม่พันธุ์-หนูโตเต็มวัย แถมสร้างเครือข่ายช่วยเลี้ยงส่งให้ฟาร์มแม่ได้อีก
หลังโดนสั่งหยุดพักงานสกัดโควิด-19 ยาวถึง 3 เดือนติด หนุ่มโรงงานชาวหนองฉาง จ.อุทัยธานี วัย 43 ปี ตัดสินใจใช้พื้นที่ในบ้าน-เงินเก็บหลักพันสร้างอาชีพใหม่ด้วยการเลี้ยงหนูพุก หรือหนูนา เพาะพันธุ์ขายสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวชดเชยรายได้หลักที่เสียไป จนกลายเป็นธุรกิจที่ทำเงินงามและมีเครือข่ายช่วยเลี้ยงเพาะพันธุ์มากกว่า 1,000 ตัว ส่งฟาร์มแม่กิโลกรัมละ 150-180 บาท หรือราคาตัวละไม่ต่ำกว่า 195-230 บาท ส่วนพ่อแม่พันธุ์หลักคู่ละ 600 บาท
นายเจษฎา โชติกะคาม อายุ 43 ปี เจ้าของหนูนาเจษฎาฟาร์ม เล่าว่า ตนเป็นลูกจ้างโรงงานในพื้นที่ อ.หนองฉาง กระทั่งช่วงโควิด-19 ระบาด โรงงานได้สั่งให้พนักงานหยุดทำงานนานถึง 3 เดือนติด ทำให้ไม่มีงาน ไม่มีรายได้ จึงคิดหาหนทางสร้างอาชีพสร้างรายได้ชั่วคราวเพื่อไว้ใช้เลี้ยงครอบครัว
กระทั่งเห็นธุรกิจการเพาะเลี้ยงหนูพุก หรือหนูนา ว่าน่าจะสามารถช่วยสร้างรายได้ให้ตนเองได้ ก็เริ่มศึกษาจาก YouTube ตั้งแต่ขั้นตอนการทำที่อยู่ให้หนู อาหารและการเพาะเลี้ยงต่างๆ โดยใช้พื้นที่ในบ้านของตัวเองที่ หมู่ 1 ต.หนองสรวง อ.หนองฉาง จ.อุทัยธานี ทำเป็นฟาร์มขนาดเล็กเริ่มเพาะเลี้ยง
“ช่วงแรกก็มีลูกค้าปลีกเข้ามาซื้อ พอสร้างรายได้หลักพันในครอบครัว แต่ผมมองเห็นว่าธุรกิจนี้น่าจะไปได้และสามารถช่วยสร้างรายได้เพิ่มให้ครอบครัวได้ จึงเก็บรวบรวมทุนและค่อยๆ ทดลองเพาะพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์หนูด้วยตัวเองจนสำเร็จ ทำให้สามารถขายหนูพุกหรือหนูนาได้ทั้งแบบพ่อพันธุ์แม่พันธุ์และแบบโตเต็มวัย”
ล่าสุดขณะนี้ฟาร์มตนมีหนูพุกหรือหนูนาที่เลี้ยงไว้ประมาณ 100 กว่าตัวแล้ว โดยสร้างโรงเรือนแยกเป็น 3 โรงเรือน ได้แก่ โรงเรือนหลังคลอด คือ ระยะ 1 เดือน แยกแม่ลูก โรงเรือนคัดแยกพันธุ์ คือ ระยะ 2 เดือน แยกตัวผู้-ตัวเมีย และโรงเรือนเพาะพ่อ-แม่พันธุ์ที่ได้จากการคัดเลือกจากโรงเรือนที่ 2 โดย 1 บ่อจะมีตัวผู้ 2 ตัว และเมีย 1 ตัว รวมแล้วประมาณ 100 วงบ่อ เพื่อให้มีการผสมพันธุ์ ซึ่งหนูพุกหรือหนูนานั้นจะคลอดลูกครั้งละประมาณ 1-10 ตัว
ส่วนการให้อาหารใช้หัวอาหารหมูเป็นหลัก อาหารรองจะเป็นข้าวโพด อาหารเสริมจะเป็นหญ้าเนเปียร์ ซึ่งหนูจะกินช่วงลำต้น และนำใบไปทำรัง ซึ่งเป็นวิธีที่ช่วยลดต้นทุนค่าอาหาร และยังช่วยเรื่องลำไส้หนูได้ดีอีกด้วย วงบ่อก็ใช้ท่อซีเมนต์ขนาด 80×40 ซม. ปัจจุบันได้หล่อวงบ่อเองช่วยลดต้นทุนไปได้อีกเป็นเท่าตัว รวมไปถึงนำโอ่งน้ำเก่าที่ไม่ได้ใช้แล้วมาใช้เป็นวงบ่อเลี้ยงเสริมอีก
ด้านการส่งขายนั้น นายเจษฎาเล่าว่า ตอนนี้มีทั้งขายปลีกและขายส่ง ขั้นต่ำ 100 กิโลกรัมขึ้นไป โดยพ่อแม่พันธุ์หลักจะดูที่ลักษณะว่าใหญ่กว่าทุกตัวในคอก หนักประมาณ 1.3 กิโลกรัมขึ้นไป อายุนั้นจะประมาณ 3-4 เดือนขึ้นไป ขายที่คู่ละ 600 บาท ซึ่งก็จะมีทั้งคนมาซื้อไปเพาะพันธุ์ขายต่อ และซื้อไปเป็นสัตว์เลี้ยง เนื่องจากหนูพุก หรือหนูนานั้น หากเลี้ยงแบบโตเต็มวัยจะเลี้ยงง่าย เชื่อง สะอาด จึงเริ่มกลายเป็นสัตว์เลี้ยงในกลุ่มคนที่ชื่นชอบมากขึ้นแล้ว
นายจรัญ ณรงค์มี อายุ 39 ปี หนุ่มลูกจ้างโรงงานเช่นเดียวกัน ก็ได้ทดลองเลี้ยงหนูพุกในพื้นที่บ้านตัวเอง เขตหมู่ 3 ต.อุทัยเก่า อ.หนองฉาง ปัจจุบันมีหนูที่เลี้ยงไว้ประมาณ 40 บ่อ พ่อพันธุ์-แม่พันธุ์ 10 บ่อ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มเพื่อนในโรงงานที่เป็นเครือข่ายเพาะเลี้ยงในอำเภออื่นๆ อีก 3 รายแล้ว