xs
xsm
sm
md
lg

มีลุ้น!! น้ำที่เขื่อนวชิราลงกรณเหลือ 42.53% ลุ้นเดือน ส.ค.-ก.ย.63 พอไม่พอ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กาญจนบุรี - ผอ.เขื่อนวชิราลงกรณ เผยน้ำที่เขื่อนมีเพียง 42.53% เหตุฝนตกทิ้งช่วง ลุ้นเดือน ส.ค.-ก.ย.63 นี้ หากยังไม่ตก ปี 64 เจอภัยแล้งหนักแน่ แนะใช้น้ำอย่างประหยัดและคุ้มค่า ส่วนเกษตรกรควรหันมาปลูกพืชการเกษตรที่มีอายุสั้น

วันนี้ (12 ส.ค.) นายไววิทย์ แสงพานิชย์ ผอ.เขื่อนวชิราลงกรณ อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี เปิดเผยว่า จากปรากฏการณ์ภัยแล้งเนื่องจากฝนตกทิ้งช่วงมานานกว่า 3 เดือน ส่งผลให้ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำเขื่อนวชิราลงกรณลดน้อยลง จะเห็นได้ว่าปริมาณน้ำบริเวณท้ายเขื่อนพื้นที่อำเภอสังขละบุรีเริ่มแห้งขอด เป็นเหตุทำให้บ้านเรือนของประชาชนที่เป็นแพพัก รวมทั้งแพที่ให้บริการแก่นักท่องเที่ยวจำนวนมากเริ่มเกยตื้นขึ้นไปอยู่บนบก

ขณะที่ปริมาณน้ำในแม่น้ำซองกาเลีย ที่รับน้ำมาจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ไหลผ่านบริเวณสะพานไม้อุตตมานุสรณ์ สถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังของอำเภอสังขละบุรี ลดลงอย่างเห็นได้ชัด จะมีอยู่บ้างที่บริเวณลำคลองเดิม จากสถานการณ์ดังกล่าวจึงส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวทางน้ำ โดยเฉพาะการนำนักท่องเที่ยวไปเยี่ยมชมโบสถ์จมน้ำ วัดวังก์วิเวการามเดิม โดยผู้ประกอบการจะต้องใช้ความระมัดระวัง จากสถานการณ์ดังกล่าวถือว่าเกิดขึ้นในรอบ 10 ปี

ทั้งนี้ จากข้อมูลของเขื่อนวชิราลงกรณ ระดับกักเก็บสูงสุด 155.00 ม.รทก. เช้านี้พบว่าระดับน้ำในเขื่อนฯอยู่ที่ 138.53 ม.รทก. โดยมีปริมาณน้ำที่ 3,768.17 ล้าน.ลบ.ม. ปริมาณน้ำกักเก็บสูงสุด 8,860 ล้าน.ลบ.ม. คิดเป็น 42.53% ปริมาณน้ำใช้งานได้ 753.87 ล้าน.ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 12.89% ปริมาณน้ำไหลเข้าล่าสุด 0.46 ล้าน ลบ.ม./ชม. ปริมาณน้ำที่ระบายออก 0.44 ลบ.ม./ชม. สามารถรองรับน้ำได้อีก 5,091.83 ล้าน.ลบ.ม. 

จากข้อมูลของวันที่ 12 สิงหาคม 2562 พบว่ามีระดับกักเก็บอยู่ที่ 145.79 ม.รทก. ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่าง 163.16 ล้าน.ลบ.ม. ปริมาณน้ำที่กักเก็บ 5,689.84 ล้าน.ลบ.ม. คิดเป็น 64.22% โดยมีปริมาณน้ำที่ใช้งานได้ 2,677.84 ล้าน.ลบ.ม. คิดเป็น 45.79%

จากการเปรียบเทียบข้อมูลในห้วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา จะเห็นว่าสถานการณ์ค่อนข้างจะน่าเป็นห่วง ต้องมารอลุ้นปริมาณฝนที่จะตกลงมาบริเวณเหนือเขื่อน (พื้นที่ อ.สังขละบุรี และบางส่วนของ อ.ทองผาภูมิ) ซึ่งเป็นพื้นที่เหนือเขื่อน ใน 2 เดือนที่เหลือ สิงหาคม-กันยายน ซึ่งจากสถิติที่ผ่านมา จะเป็นช่วงเวลาที่ฝนในพื้นที่เหนือขึ้นจะมีมาก ซึ่งหากมีมรสุมเข้ามาในห้วงเวลาดังกล่าวก็จะส่งผลดีต่อปริมาณน้ำในเขื่อนปีนี้

"แต่หากไม่มีทุกภาคส่วนคงต้องให้ความร่วมมือกันในการใช้น้ำอย่างประหยัด ทั้งภาคครัวเรือน ภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งภาคเกษตรกรรม เตือนเกษตรกรต้องมีการวางแผนในการเพาะปลูก เพื่อลดความเสียหาย โดยการหันมาปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย อายุสั้น ขายได้ราคา" นายไววิทย์ แสงพานิชย์ ผอ.เขื่อนวชิราลงกรณ เผย










กำลังโหลดความคิดเห็น