น่าน - อพท.6 ร่วมกับ ม.พะเยา-สภาวัฒนธรรมน่าน ศึกษาและออกแบบพื้นที่สร้างสรรค์ น่าน-เมืองอัจฉริยะ ให้ทุกคนเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยว
องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. 6 ร่วมกับมหาวิทยาลัยพะเยา ได้เปิดอบรมเชิงปฏิบัติการโครงการศึกษาและออกแบบพื้นที่การสร้างสรรค์ผลงานในแหล่งท่องเที่ยว และเมืองศิลปะเชิงสร้างสรรค์ รองรับ “CBT Aging Friend” และพัฒนาชุมชนพื้นที่ต้นแบบเมืองอัจฉริยะ (Smart City) เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยว ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมแกรนด์บอลรูม โรงแรมเทวราช อ.เมืองน่าน โดยมีหน่วยงานภาครัฐ เอกชนภาคการท่องเที่ยว และตัวแทนชุมชนจาก 5 ตำบล พื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน เข้าร่วม
เพื่อให้แหล่งท่องเที่ยวในเขตพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่านได้รับการพัฒนาตามเกณฑ์การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของสภาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (GSTC) และขับเคลื่อนเพื่อยกระดับเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของ UNESCO รวมทั้งให้บุคลากรด้านการท่องเที่ยวของชุมชนท้องถิ่นเมืองน่าน ได้รับการพัฒนาให้มีขีดความสามารถด้านการให้บริการอย่างมีคุณภาพตามมาตรฐานสากล และเป็นที่ประทับใจของนักท่องเที่ยว
ดร.ฤทัยภัทร พิมลศรี ผู้เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยพะเยา เปิดเผยว่า โครงการฯ จะมีการพัฒนาพื้นที่จริงให้เกิดเป็นรูปธรรม โดยปรับปรุงพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวต้นแบบ สถานประกอบการ โรงแรมที่พัก ร้านอาหาร ร้านกาแฟ พิพิธภัณฑ์ชุมชน และวัด ในเขตตำบลในเวียง พื้นที่พิเศษ 6 เช่น ห้องน้ำสำหรับผู้พิการหรือผู้สูงอายุ ทางเดินเท้า ป้ายให้เสียง ให้สัญลักษณ์ เสาอิเล็กทรอนิกส์ ทางลาด ราวบันได แสงสว่าง จุดบริการน้ำดื่มสาธารณะ เป็นต้น
และทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ โดยเฉพาะการสร้างสื่อดิจิทัลที่เป็นรูปธรรม การจัดทำพื้นที่ต้นแบบแหล่งท่องเที่ยวให้เป็นเมืองอัจริยะ (Smart city for all ) ให้บริการข้อมูลการท่องเที่ยวจังหวัดน่านผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน และมีความปลอดภัยและสวัสดิภาพ ในแหล่งท่องเที่ยวมีระบบติดตาม ป้องกันและตอบสนองต่อภัยทางด้านอาชญากรรม ความ ปลอดภัย และสุขอนามัย
ผศ.ดร.พรเทพ โรจนวสุ คณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศศาสตร์ หัวหน้าโครงการศึกษาและออกแบบพื้นที่การสร้างสรรค์ผลงานในแหล่งท่องเที่ยวฯ กล่าวว่า ความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และภาคประชาสังคม สะท้อนถึงพลังของวัฒนธรรม และอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ ที่มีต่อการพัฒนานโยบายในระดับท้องถิ่นผ่านกิจกรรมต่างๆ ในลักษณะของการเชื่อมโยงเมืองทั่วโลกเข้าด้วยกัน
การขับเคลื่อนโครงการศึกษาออกแบบพื้นที่การสร้างสรรค์ผลงานในแหล่งท่องเที่ยว และเมืองศิลปะเชิงสร้างสรรค์ นอกจากจะรองรับ “CBT Aging Friend” และพัฒนาชุมชนพื้นที่ต้นแบบเมืองอัจฉริยะ (Smart City) เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวแล้ว ยังเป็นการยกระดับจังหวัดน่านก้าวเข้าสู่การเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของ UNESCO ต่อไป