น่าน – อพท.ดันเมืองน่าน เข้าร่วมเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ UNESCO ตระเวนเปิดเวทีสัญจรตลอดเดือนนี้ทั้ง 15 อำเภอ สร้างการรับรู้-ค้นหาคลังภูมิปัญญาท้องถิ่น เผย มช.สำรวจพบเด่นด้านหัตถกรรม-ศิลปะพื้นบ้าน เชื่อเสริมแกร่งเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมเชียงใหม่-สุโขทัย
องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ร่วมกับนายอำเภอ สภาวัฒนธรรมจังหวัดและระดับอำเภอ เครือข่ายเยาวชน ตระเวนจัดกิจกรรมและเปิดเวทีสัญจร 15 อำเภอ ทั่วทั้งจังหวัดน่านตลอดเดือนกรกฎาคมนี้ เพื่อสร้างการรับรู้ และความเข้าใจเดินหน้าโครงการเข้าร่วมเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของ UNESCO และประชาสัมพันธ์สร้างการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชน
นายสุขสันต์ เพ็งดิษฐ์ ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ 6 กล่าวว่าปี 64 จังหวัดน่านจะสมัครเข้าโครงการเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก ที่มีการสมัครเป็นเครือข่ายในทุกๆ 2 ปี ปัจจุบันมี 246 เมือง จาก 84 ประเทศสมาชิก ซึ่งเข้าร่วมเป็นเครือข่ายฯแล้ว 4 จังหวัด คือ จังหวัดภูเก็ต-เมืองสร้างสรรค์ด้านอาหาร จังหวัดเชียงใหม่-เมืองสร้างสรรค์ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน จังหวัดกรุงเทพฯ-เมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบ และจังหวัดสุโขทัย-เมืองสร้างสรรค์ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน
ซึ่งเมืองสร้างสรรค์ ตามนิยามของยูเนสโก หมายถึง เมืองที่มีกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย และมีส่วนในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของเมืองนั้นๆ มีการรวมกลุ่มกันอย่างหนาแน่นของคนที่ทำงานสร้างสรรค์ ที่ทำให้เมืองกลายเป็นพื้นที่ของการแสดงออกทางความคิดสร้างสรรค์ ปัจจุบันเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโกแบ่งออกเป็น 7 สาขา ได้แก่ ศิลปะและหัตถกรรมพื้นบ้าน, การออกแบบ ,ภาพยนตร์, อาหาร, วรรณกรรม ,มีเดีย อาร์ต และดนตรี
สำหรับจังหวัดน่าน ได้สมัครในสาขาเมืองสร้างสรรค์ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน ด้วยปัจจัยศักยภาพที่เป็นทุนเดิมของชุมชน และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ทำการสำรวจ-เก็บข้อมูลด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน (Crafts and Folk Arts) ในพื้นที่จังหวัดน่าน พบว่า ร้อยละ 70 เป็นประเภทงานผ้าทอ ส่วนอีกร้อยละ 30 เป็นงานประเภทปูนปั้น งานไม้ เครื่องเงิน งานจักสาน งานโลหะ งานกระดาษและเครื่องปั้นดินเผา นอกจากนั้นบรรยากาศโดยรวมของเมืองน่าน งานผ้าทอและเครื่องเงินได้ถูกนำมาใช้ในชีวิตประจำวันของผู้คนด้วย
และหากจังหวัดน่านได้เป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของ UNESCO สาขาด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน ก็จะเชื่อมโยงกับจังหวัดเชียงใหม่-สุโขทัย ที่เป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านนี้เช่นเดียวกัน จะทำให้กลายเป็นเส้นทางการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่แข็งแกร่งของภูมิภาคด้วย
ซึ่งหลังจากทำกระบวนการเวทีระดับอำเภอแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะได้รวบรวมและประมวลข้อมูลเพื่อเขียนใบสมัครเข้าเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก ปี 2564 ต่อไป