xs
xsm
sm
md
lg

ชาวบ้านเมืองช้างบุกศาลากลางฯ จี้ผู้ว่าฯ ปิดฟาร์มหมู โวยปล่อยน้ำเสียส่งกลิ่นเน่าเหม็นมากว่า 10 ปี

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สุรินทร์ - ชาวบ้านเมืองช้าง 3 ตำบล กว่า 100 คน บุกศาลากลางจังหวัดฯ ร้องผู้ว่าฯ ปิดฟาร์มหมู โวยปล่อยน้ำเสีย สิ่งปฏิกูลลงลำน้ำห้วยเสนงส่งกลิ่นเน่าเหม็น ส่งผลกระทบต่อชุมชน สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม ชาวบ้านเดือดร้อนมานานกว่า 10 ปี และทำสัตว์น้ำตายเป็นเบือถูกดำเนินคดีแต่ไม่คืบ ขู่เคลื่อนไหวใหญ่

วันนี้ (5 ส.ค.) ที่หน้าศาลากลางจังหวัดสุรินทร์ ชาวบ้านผู้ได้รับความเดือดร้อนจากฟาร์มหมูศิริวรรณ ซึ่งเป็นฟาร์มหมูขนาดใหญ่ ตั้งอยู่หมู่ที่ 5 บ้านสนายดวจ ต.คอโค อ.เมือง จ.สุรินทร์ จำนวน 3 ตำบล ประกอบด้วย ต.คอโค ต.นอกเมือง และ ต.ท่าสว่าง อ.เมือง จ.สุรินทร์ กว่า 100 คน นำโดย นายชุมพร เรืองศิริ ผู้ใหญ่บ้านแสงตะวัน ม.4 ต.คอโค อ.เมืองสุรินทร์ ได้รวมตัวกันยื่นหนังสือร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ ได้เร่งแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ จากฟาร์มหมูศิริวรรณ ปล่อยน้ำเสียลงสู่ลำน้ำห้วยเสนงและส่งกลิ่นเน่าเหม็นกระจายเป็นวงกว้างมาตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี


พร้อมกันนี้ ชาวบ้านยังพากันถือป้ายประท้วงข้อความต่างๆ เช่น ชาวบ้านไม่เอาฟาร์มหมู ทำลายสิ่งแวดล้อม สร้างมลพิษนาน 8 ปี เราจะไม่ทนอีกต่อไป ปิดๆ ฟาร์มหมู ผู้ป่วยติดเตียง เด็ก คนชรา ดมกลิ่นขี้หมูมา 8 ปีแล้ว ปิดๆๆ ฟาร์มหมู เด็กนักเรียนสมองเสื่อม ครูก็เหม็นขี้หมู ไม่เป็นอันสอน ปิดๆๆ ฟาร์มหมูและสัตว์น้ำในลำห้วยเสนงตายหมด ชาวบ้านอดกินปลา ลดค่าครองชีพ ปิดๆๆ ฟาร์มหมู เป็นต้น

โดยหนังสือร้องเรียนระบุว่า กว่า 10 ปีที่คนลุ่มน้ำห้วยเสนงตอนปลายใน 3 ตำบล ประกอบด้วย ตำบลคอโค ตำบลนอกเมือง และตำบลท่าสว่าง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ ต้องประสบกับปัญหาจากฟาร์มหมู ทั้งสิ่งปฏิกูล ของเสียและกลิ่น ซึ่งส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชุมชน สุขภาพ สุขภาวะและสิ่งแวดล้อม นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นปัญหาซ้ำซากที่ทางฟาร์มเคยรับปากในการแก้ไขปัญหา แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่สามารถดำเนินการแก้ไขให้เป็นจริงได้ โดยลำดับตามช่วงเวลาและผลกระทบได้ดังนี้

พ.ศ. 2553 ฟาร์มหมูศิริวรรณได้ปล่อยน้ำเสียจากฟาร์มลงสู่ลำน้ำห้วยเสนง ส่งผลให้สิ่งมีชีวิต สัตว์น้ำและปลาตายเป็นจำนวนมาก จนชาวบ้านต้องลุกขึ้นมาเรียกร้องหาความรับผิดชอบจากฟาร์มหมู พ.ศ. 2553 ถึง พ.ศ. 2561 ในช่วงเวลาระหว่างนี้ชาวบ้านยังพบว่ามีของเสียจากฟาร์มไหลลงลำน้ำห้วยเสนงเป็นครั้งคราว พ.ศ. 2561 ฟาร์มหมูศิริวรรณได้ปล่อยน้ำเสียจากฟาร์มลงสู่ลำน้ำห้วยเสนงอีกครั้ง ซึ่งนับเป็นความรุนแรงและเห็นชัดเช่นเดียวกันกับเมื่อครั้งปี พ.ศ. 2553 ส่งผลให้สัตว์น้ำตายเป็นจำนวนมาก และในครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่หนักและได้มีการฟ้องร้องดำเนินคดีต่อฟาร์มหมูศิริวรรณ โดยประมงจังหวัดสุรินทร์ ชลประทานห้วยเสนงจังหวัดสุรินทร์ และคณะกรรมการเครือข่ายลุ่มน้ำห้วยเสนงตอนปลาย ซึ่งมีตัวแทนชุมชนนำโดยผู้ใหญ่บ้านในตำบลคอโค หมู่ 4 บ้านแสงตะวัน หมู่ 11 บ้านบางกอกน้อย ผู้ใหญ่บ้านตำบลท่าสว่าง หมู่ 15 และหมู่ 17 เป็นผู้ร้องเรียนร่วม


พ.ศ. 2561 ถึง พ.ศ. 2563 ในช่วงเวลาระหว่างนี้ ชาวบ้านประสบปัญหาเรื่องกลิ่นจากฟาร์มหมู ซึ่งนับวันยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นจนถึงปัจจุบัน จากปัญหาและผลกระทบดังกล่าว ตลอดเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา อาจแบ่งได้เป็นสองส่วน ส่วนที่หนึ่ง ในเรื่องคดีความที่มีการฟ้องร้องนับจากปี พ.ศ. 2561 จนถึงปัจจุบันร่วม 2 ปี ชุมชนผู้ได้รับผลกระทบยังไม่ทราบความคืบหน้าของคดี

ส่วนที่สอง ในแง่ผลกระทบต่อชุมชน สุขภาพ สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ ตลอด 10 ปีที่ผ่านมาอาจแบ่งได้เป็น 1. ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ ทำให้ระบบนิเวศเปลี่ยนแปลง แหล่งน้ำมีวัชพืชเพิ่มมากขึ้น เช่น ผักตบชวา ผักพื้นบ้านหายไปจากที่เคยมีมา เช่น ผักแว่น ผักหนาม และความหลากหลายทางชีวภาพเสียหาย ตลอดจนสัตว์น้ำที่เคยมีก็ลดน้อยลงหรือบางชนิดก็แทบสูญหายไปจากลำน้ำ เช่น ปลา หอยกาบ ตะพาบน้ำ 2. ผลกระทบต่อการประมง ทำให้ชุมชนเสียโอกาสในการประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน

3. ผลกระทบต่อคุณภาพน้ำและแหล่งน้ำ คุณภาพน้ำที่เสีย ส่งผลให้ไม่สามารถนำน้ำดิบในลำห้วยเสนงมาผลิตเป็นน้ำประปาของหมู่บ้านได้ เกิดผลกระทบต่อชุมชน ในหมู่ที่ 4 บ้านแสงตะวัน หมู่ที่ 3 บ้านตะเคียน หมู่ที่ 10 บ้านตะเตียว ที่ใช้น้ำจากลำห้วยเสนงเป็นหลักในการผลิตน้ำประปาหมู่บ้าน 4. ผลกระทบต่อสุขภาพและอนามัย ทั้งทางด้านมลพิษทางกลิ่น สุขภาพจิตของชุมชน 5. ผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ ชุมชนต้องเสียโอกาสเรื่องของราคาที่ดินลดลง ธุรกิจห้องเช่าและบ้านเช่าในชุมชนที่ไม่มีลูกค้ามาพัก อันเนื่องจากกลิ่นขี้หมูจากฟาร์ม

โดยสรุป ชุมชนผู้ได้รับผลกระทบจากฟาร์มหมูจึงมีข้อเสนอให้ปิดฟาร์มหมูศิริวรรณ เพื่อยุติปัญหาและผลกระทบทั้งหมดที่ชุมชนได้รับอย่างถาวร


พวกเรา ในนามเครือข่ายองค์กรชุมชนเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูลุ่มน้ำห้วยเสนง จังหวัดสุรินทร์ซึ่งเป็นเครือข่ายองค์กรชุมชนที่ทำงานด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และได้ติดตามกรณีปัญหาดังกล่าว ทั้งการลงพื้นที่ศึกษาปัญหา การเปิดเวทีแลกเปลี่ยน ปรึกษาหารือและรับฟังปัญหาจากพี่น้องชาวบ้านในชุมชนมาโดยตลอดตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน จึงขอแสดงจุดยืนและข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้

1. ให้ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาให้แก่พี่น้องประชาชนคนลุ่มน้ำห้วยเสนงตอนปลายโดยเร่งด่วน

2. ให้มีคณะกรรมการแก้ไขปัญหาแบบมีส่วนร่วมของชุมชน มีอำนาจและหน้าที่ในการติดตามและตรวจสอบเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังและยั่งยืน ทั้งนี้ หากข้อเรียกร้องของทางเครือข่ายฯ ไม่ได้รับการตอบสนอง ทางเครือข่ายฯ จึงจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการในการเคลื่อนไหวต่อไปในอนาคต


ขณะที่ นายอดิเทพ กมลเวชช์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ ได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้ง อบต.คอโค, ประมง, ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงชลประทานสุรินทร์ มาสอบถามถึงความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ที่ห้องประชุมชั้น 2 ศาลากลาง จ.สุรินทร์ พร้อมกับกลุ่มชาวบ้าน

นอกจากนี้ยังได้สอบถามไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจถึงผลคดีที่มีการกล่าวหาฟาร์มหมูว่ามีความคืบหน้าไปถึงขั้นตอนไหนแล้ว โดยทางตำรวจได้แจ้งว่าขณะนี้เรื่องถึงชั้นอัยการแล้ว โดยสัปดาห์หน้าทางสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 11 จะเข้ามาให้ข้อมูลเพิ่มเติม ขณะเดียวกัน ต่อข้อร้องเรียนของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการร่วม 3 ฝ่าย ประกอบด้วย ภาครัฐ ประชาชน และผู้ประกอบธุรกิจฟาร์มหมู ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ประชานได้รับผลกระทบ ว่าทางผู้ประกอบการฟาร์มหมูได้ดำเนินตามหลักการที่ถูกต้องหรือไม่ โดยมีระยะเวลา 30 วัน ซึ่งรองผู้ว่าฯ จะลงไปกำกับดูแลการดำเนินการตรวจสอบ






กำลังโหลดความคิดเห็น