สปป.ลาว - หน่วยงานสิทธิมนุษยชน-สิ่งแวดล้อม และสารพัดองค์กรไม่สามารถแทรกแซงกิจการภายใน..รอง รมต.ลาวโพสต์กร้าว สปป.ลาว มีสิทธิ์สร้างเขื่อนในเขตอธิปไตย
วันนี้ (28 ก.ค.) เฟซบุ๊ก Sourioudong Sundara ของนายสุลิอุดง สุนดาลา รองรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สปป.ลาว ได้โพสต์เนื้อหาที่ค่อนข้างแข็งกร้าว ซึ่งไม่ค่อยพบเห็นบ่อยนัก โดยระบุเนื้อหาพอสังเขปว่า..ท่านรู้ไหมว่า “ทุกๆ สัญญา และสนธิสัญญาสากล ต้องบรรจุมาตราที่เคารพเอกราช อำนาจอธิปไตยเหนือแผ่นดิน น่านฟ้า น่านน้ำ อันครบถ้วน และไม่สามารถแทรกแซงกิจการภายในของประเทศที่เป็นภาคีได้อย่างเด็ดขาด ประเทศภาคีสามารถออกกฎหมายบังคับใช้ภายในเพื่อควบคุม หรือถอนตัวออกจากการเป็นภาคีได้ทุกเวลา”
พร้อมยกเป็นกรณีศึกษา “แม่น้ำโขง” ซึ่งมีความยาว 4,350 กิโลเมตร ไหลผ่าน 6 ประเทศ สป.จีน สหภาพพม่า สปป.ลาว ราชอาณาจักรไทย ราชอาณาจักรกัมพูชา และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ส่วนประเทศที่มีแม่น้ำโขงร่วมเป็นชายแดนมี 2 ประเทศ : สหภาพพม่า และราชอาณาจักรไทย
ขณะที่ประเทศที่มีสายน้ำโขงไหลผ่านเขตอำนาจอธิปไตยภายในประเทศ มี 4 ประเทศ : สป.จีน สปป.ลาว ราชอาณาจักรกัมพูชา และ สส.เวียดนาม
เฟซบุ๊กรองรัฐมนตรีฯ สุลิอุดง ระบุอีกว่า สปป.ลาวของเรามีทั้งร่วมเป็นชายแดน และไหลผ่านภายในประเทศ ฉะนั้น หมายความว่า สป.จีน สปป.ลาว ราชอาณาจักรกัมพูชา และ สส.เวียดนาม มีสิทธิอันชอบธรรมที่สามารถสร้างเขื่อนภายในเขตอธิปไตยของตน และทำอย่างไรก็ได้ภายใต้ระเบียบการขององค์กรแม่น้ำสากล
ฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานสิ่งแวดล้อม หน่วยงานสิทธิมนุษยชน (Human right) และสารพัดองค์กรที่ไม่สังกัดรัฐบาล ออกมาเรียกร้องเพื่อสกัดกั้นการก่อสร้างเขื่อน ก็ไม่สามารถแทรกแซงกิจการภายใน และอำนาจอธิปไตยในเขตน้ำแดนดินได้อย่างเด็ดขาด
รองรัฐมนตรีฯ สุลิอุดง ระบุอีกว่า การสร้างเขื่อนใดๆ ก็ตาม ปัญหาพื้นฐานด้านเทคนิคคือการเรียกร้องให้สร้างเงื่อนไขอันเป็นที่ยอมรับได้ เช่น สามารถให้เรือผ่านได้ สามารถให้ปลาไปวางไข่ได้ และสงวนไม่ให้หาปลาบริเวณหน้าเขื่อน
ในกรณีที่ประเทศใดไม่มีงบประมาณเพียงพอ อาศัยงบประมาณจากภายนอก จำเป็นต้องผ่านบทประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม แผนจัดสรร โยกย้าย และชดเชยค่าเสียหายต่อบุคคล หรือนิติบุคคล หรือการจัดตั้งที่ได้รับผลกระทบ จึงสามารถกู้เงินมาลงทุนสร้างได้