xs
xsm
sm
md
lg

ชาวช้างปลื้ม! พระเอกแฝดขนอาหารกว่า 10 ตันเลี้ยงช้างสุรินทร์ มอบเงิน-ถุงยังชีพคนเลี้ยงช้าง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สุรินทร์- ชาวช้างปลื้ม พระเอกแฝด “บิณฑ์- เอกพันธ์ บันลือฤทธิ์” และมูลนิธิร่วมกตัญญู นำอาหารช้างกว่า 10 ตัน เลี้ยงช้างภายในศูนย์คชศึกษา หมู่บ้านช้าง 77 เชือก พร้อมทั้งมอบเงินและถุงยังชีพให้คนเลี้ยงช้างเดือดร้อนได้รับผลกระทบโควิด-19 ชมโครงการฯดูแลช้างเป็นอย่างดี

วันนี้ ( 17 ก.ค.) ที่ศูนย์คชศึกษา หมู่บ้านช้างเลี้ยงที่ใหญ่ที่สุดในโลก บ้านตากลาง ตำบลกระโพ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ นายบิณฑ์ พร้อมด้วย นายเอกพันธ์ บันลือฤทธิ์ และคณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ อาสาสมัครมูลนิธิร่วมกตัญญู ได้เดินทางมาช่วยเหลือช้างและครอบครัวควาญช้าง พร้อมทั้งนำอาหารช้าง มาเลี้ยงช้างภายในศูนย์คชศึกษา จำนวน 77 เชือก ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ทำให้ไม่มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยว ไม่มีรายได้ และในแต่ละวันช้างกินอาหารเป็นจำนวนมาก คนเลี้ยงช้างต้องชื้ออาหารวันละหลายร้อยบาท ทำให้เกิดความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก


เมื่อคณะของ นายบิณฑ์ พร้อมด้วย นายเอกพันธ์ บันลือฤทธิ์ และมูลนิธิร่วมกตัญญู มาถึง นายกิตเมศวร์ รุ่งธนเกียรติ นายกองค์การบนริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สุรินทร์ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ของศูนย์คชศึกษา ได้ประกอบพิธีเซ่นศาลประกำ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวช้างให้ความเคารพนับถือ โดยมีหมอช้าง อายุกว่า 80 ปี ซึ่งถือว่าเป็นหมอช้างรุ่นสุดท้าย ทำพิธีเซ่นไหว้บอกกล่าวศาลประกำ ซึ่งคณะที่เดินทางมาในครั้งนี้ต่างให้ความสนใจเป็นอย่างมาก

จากนั้นได้เดินทางไปยังโครงการelephant world ซึ่งตั้งอยู่ภายในศูนย์คชศึกษา เพื่อกราบไหว้พระพิฆเนศองค์ใหญ่ ก่อนนำคณะเลี้ยงอาหารช้าง ซึ่งมีผลไม้ที่ช้างชื่นชอบกว่า 10 ตัน ให้ช้างจำนวน 77 เชือกได้กิน พร้อมมอบเงินให้กับช้างน้อย 2 เชือก เชือกละ 5,000 บาท ซึ่งเป็นช้างที่รอเข้าโครงการฯ และเจ้าของต้องหาเลี้ยงเอง เพื่อเป็นการช่วยเหลือ จากนั้นได้ร่วมกับมูลนิธิร่วมกตัญญูมอบเงินช่วยเหลือครอบครัวควาญช้างครอบครัวละ 1,000 บาท พร้อมมอบถุงยังชีพ ข้าวสาร อาหารแห้ง จำนวน 77 ราย ซึ่งสร้างความดีใจให้กับชาวช้างเป็นอย่างมาก


นายบิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ กล่าวว่า สุรินทร์ถือว่าเป็นพื้นที่ที่มีช้างเลี้ยงมากที่สุด อยากให้ร่วมกันอนุรักษ์ไว้ให้ดี ดูแลเขาให้ดี ยังไงหากมีปัญหาอะไรสามารถประสานไปทางตนได้ ยินดีที่จะเข้ามาช่วยเหลือ ถ้าไม่เหนือบ่ากว่าแรง ดังนั้นควรดูแลเขาให้ดี ส่วนปัญหาช้างเร่ร่อนนั้นตนคิดว่าน่าจะไม่มีแล้ว เพราะมีโครงการต่าง ๆ เข้ามาดูแลแก้ไข ทุกอย่างเข้ามาอย่างมีระบบเป็นไปตามกฎหมายของบ้านเมือง เช่นช้างทุกเชือกต้องมีการจดทะเบียน มีแหล่งที่มาที่ไปมีที่อยู่อาศัย ทุกวันนี้ประเทศไทยเป็นอะไรที่ทัดเทียมกับทั่วโลกแล้ว เพราะฉะนั้นจะไม่มีการเดินออกไปเรี่ยไรหรือขอสิ่งของจากชาวบ้าน อย่างที่ตนมาเห็นในวันนี้ ซึ่งเป็นการมาครั้งแรกที่ศูนย์คชศึกษา พบว่าช้างแต่ละเชือกสมบูรณ์มากและแทบไม่พบการใช้ตะขอสับช้างเลย มีการดูแลช้างดีมาก นอกจากเชือกที่ดื้อก็ต้องสั่งสอนบ้าง เหมือนคำโบราณที่ว่ารักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี ซึ่งช้างจะดีก็อยู่ที่ตะขอ ซึ่งไม่พบว่ามีการใช้ตะขอสับช้างเลยขอชื่นชมจริง

ตนมีความประสงค์ที่จะช่วยเหลือช้างทั่วประเทศ ในขณะที่มูลนิธิร่วมกตัญญูก็ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการมอบให้กับควาญช้างและครอบครัวช้าง โดยจะมอบให้ครอบครัวละ 1,000 บาท พร้อมถุงยังชีพ สำหรับตนนั้นช้างทุกเชือกที่เข้าไปจังหวัดไหนและไม่สามารถดูแลได้ ตนจะมอบเงินช่วยเหลือให้เชือกละ 5,000 บาท ทุกครอบครัว ในส่วนของ อบจ.สุรินทร์ที่ดูแลอยู่ที่จุดนี้ดูแลได้ดีก็ไม่มีอะไรมากเพียงนำอาหารช้างมาเลี้ยงและมอบเงินให้ครอบครัวช้าง 2 เชือกๆ ละ 5,000 บาท เป็นช่วยเหลือ เป็นช้าง ที่กำลังเข้าโครงการ แต่ยังไม่ได้เข้าต้องเลี้ยงช้างเอง


ขณะที่ นายกิติเมศวร์ รุ่งธนิเกียรติ นายกอบจ.สุรินทร์ เปิดเผยว่า โครงการ elephant world ซึ่งถือว่าเป็นเหมือนมหาวิทยาลัยช้าง ซึ่งใช้เป็นที่เผยแพร่วิชาคชศาสตร์ เผยแพร่ไปทั่วประเทศ และ อบจ.สุรินทร์ กำหนดไว้ว่า เป็นจุดอนุรักษ์ช้าง ดังนั้นสิ่งที่ทุกคนห่วงใยว่าช้างจะสูญพันธุ์ไปจากโลก ไม่ต้องห่วงเพราะชาวสุรินทร์จะยังคงอนุรักษ์ไว้ตลอดไป

“ ในวันที่ 24 กรกฎาคม 2563 นี้ โครงการ elephant world จะมีการเปิดนิทรรศการช้างเป็นแห่งแรกของโลก ให้นักท่องเที่ยวได้ชม ซึ่งจะเปิดให้ชมนิทรรศการช้างให้ชม เพียง 30 วัน จึงขอเชิญชวนนักท่องเที่ยวได้มาเที่ยวชม” นายกิติเมศวร์ กล่าวในตอนท้าย






กำลังโหลดความคิดเห็น