พิษณุโลก - เกษตรกรชาวสวนมะม่วงรวมตัวยื่นฟ้องศาลปกครองซ้ำ เอาผิดคณะกรรมการกลุ่มจังหวัดเหนือล่างทั้งรัฐ-เอกชนจ่อโยกงบตั้งโรงงานอบไอน้ำมูลค่า 150 ล้านทำโครงการอื่น
วันนี้ (13 ก.ค.) นางสาวศิลาพร สิงหลักษณ์ ประธานเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนศูนย์พัฒนาผลไม้สดและแปรรูปเพื่อการส่งออก อยู่บ้านเลขที่ 138/1 หมู่ที่ 3 ต.บางกระทุ่ม อ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก พร้อมเกษตรกรกลุ่มผู้ปลูกมะม่วงเพื่อการส่งออก ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อศาลปกครองพิษณุโลก เพื่อฟ้องเอาผิดคณะกรรมการบริหารงานกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.บ.ก.) กลุ่มภาคเหนือตอนล่าง 1
ประกอบด้วย 1. นายพิพัฒน์ เอกภาพันธ์ ผู้ว่าฯ พิษณุโลกและเป็นหัวหน้ากลุ่มจังหวัดพิษณุโลก 2. รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก (กรรมการและเลขานุการ) 3. หัวหน้าสำนักงานจังหวัดพิษณุโลก 4. พาณิชย์จังหวัดพิษณุโลก 5. เกษตรและสหกรณ์จังหวัดพิษณุโลก 6. นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิษณุโลก 7. นายกเทศมนตรีนครพิษณุโลก 8. นายกองค์การบริหารส่วนตำบลวังน้ำคู้ จังหวัดพิษณุโลก 9. นางชุตินันท์เครือสุข ผู้แทนภาคประชาสังคม จังหวัดพิษณุโลก 10. ร้อยเอก อุบล พุทธรักษ์ ผู้แทนภาคประชาสังคม จังหวัดพิษณุโลก 11. ประธานหอการค้ากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 12. ประธานสภาอุตสาหกรรมกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1
หลังจาก 12 มิ.ย.ที่ผ่านมา นางสาวศิลาพร สิงหลักษณ์ และกลุ่มเกษตรกรทั้งพิษณุโลกและพิจิตรได้ยื่นฟ้องมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก เพื่อขอให้ 1. ขอให้เพิกถอนมติของคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา วาระพิเศษ ครั้งที่ 3/2563 เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 ที่ไม่ดำเนินการสนับสนุนโครงการก่อสร้างอาคารและส่งเสริมและพัฒนาสินค้าเกษตรแปรรูป ภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา มูลค่า 150 ล้านบาท
นายบุญส่ง สีสะท้าน ประธานวิสาหกิจชุมชนจังหวัดพิษณุโลก ต.พันชาลี เปิดเผยว่า ทั้งพิษณุโลก-พิจิตรมีการปลูกมะม่วงไม่ต่ำกว่า 2 แสนไร่ ชาวสวนทุกรายเมื่อส่งออกมะม่วงแต่ละครั้งจะต้องนำไปผ่านการอบไอน้ำฆ่าแมลงวันทองเสียก่อนเพื่อป้องกันการระบาดในประเทศผู้ซื้อผลผลิต เช่น เกาหลีหรือญี่ปุ่น ซึ่งเจ้าของสวนจะต้องแบกภาระส่งไปอบไอน้ำที่ จ.เชียงใหม่ ชลบุรี นครปฐม ฯลฯ แบกรับต้นทุนเฉลี่ยกิโลกรัมละ 7 บาท หากมีโรงงานตั้งอยู่ที่จังหวัดพิษณุโลก เกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงก็มีโอกาสรอด หากรัฐส่งเสริมและสนับสนุน
ขณะที่ประธานวิสาหกิจชุมชนจังหวัดพิษณุโลก ต.หินลาด บอกในลักษณะเดียวกันว่า ห้วงวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมา สินค้ามะม่วงของกลุ่มฯ เสียหายไปกว่า 100 ตัน เนื่องจากโรงอบไอน้ำที่ จ.จันทบุรีเต็ม ไม่สามารถส่งมะม่วงไปโรงอบไอน้ำได้ทันเวลา หากมีโรงอบไอน้ำแปรรูปที่พิษณุโลก อนาคตมะม่วงส่งออกที่พิษณุโลกและพิจิตรจะสดใสกว่านี้ เกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงซึ่งอยู่ในชะตากรรมเดียวกันก็รอดหมด
“2-3 ปีที่ผ่านมาเคยส่งออกมะม่วงสร้างรายได้สูงสุด 75 บาทต่อกิโลกรัม ปีนี้เหลือเพียง 25 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนราคาขายส่งในประเทศ 40 บาทต่อกิโลกรัม ปัจจุบันเหลือ 7 บาทต่อกิโลกรัม”
ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าการที่ส่งออกมะม่วงไปต่างประเทศจะต้องผ่านขั้นตอนการฆ่าเชื้อ “แมลงวันทอง” ก่อน เพราะไม่เช่นนั้นผู้ซื้อในต่างประเทศโดยเฉพาะเกาหลี จะไม่ยอมรับ จะต้องผ่านการฆ่าเชื้อก่อน
นางสาวศิลาพร สิงหลักษณ์ ประธานเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนศูนย์พัฒนาผลไม้สดและแปรรูปเพื่อการส่งออก เปิดเผยว่า มีสมาชิกในเครือข่ายประมาณ 3,000 คน รอคอยโครงการก่อสร้างอาคารส่งเสริมและพัฒนาสินค้าเกษตรแปรรูป มาตั้งที่มหาวิทยาลัยเทคโนฯ หลายปีแล้ว ถึงวันนี้เกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงไม่อยากเสียโอกาส เนื่องจากทราบว่า ก.บ.ก. ซึ่งมีผู้ว่าฯ เป็นประธานและมีภาคเอกชนร่วมเป็นกรรมการด้วย มีมติเปลี่ยนแปลงและจะนำงบประมาณไปทำโครงการอื่น ซึ่งทางกลุ่มเกษตรผู้ปลูกมะม่วงไม่เห็นด้วย จึงต้องมาฟ้องศาลปกครองในวันนี้อีกรอบ ชาวสวนมะม่วงยื่นศาลปกครองฯ ซ้ำอีก ชี้รัฐ-เอกชนกลุ่ม จว.เหนือล่างจ่อโยกงบตั้งโรงอบไอน้ำกระทบส่งออก