พิษณุโลก - ทางหลวงพิษณุโลกที่ 5 ระบุค้านกันได้ตามสิทธิ แถมมีคนส่งเรื่องถึงอธิบดีกรมทางฯ-รัฐมนตรี แล้วด้วย แต่ยืนยันเดินหน้าย้ายจุด-ทำทางลอดหน้าโรงเรียนชาย ก่อนงบยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัด 35 ล้านตก
ความคืบหน้ากรณีสำนักงานทางหลวงที่ 5 (พิษณุโลก) ดำเนินโครงการก่อสร้างอุโมงค์จุดกลับรถ ทางหลวงหมายเลข 126 ตอนควบคุม 0101 ตอนถนนวงแหวนรอบเมืองพิษณุโลกด้านทิศเหนือ กม.1+070 (บริเวณหน้าโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม) ซึ่งถูกชาวเมืองพิษณุโลกออกมาคัดค้าน และมีการวิจารณ์ทำนองว่า “ทางหลวงฯ ลักไก่ ย้ายจุดก่อสร้างทางลอดขึ้นเหนือ อาศัยช่วงโควิค-19 สอบถามความคิดเห็นทางเฟซบุ๊ก” ตามที่มีการเสนอข่าว
ล่าสุดนายนรินทร์ ศรีสมพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานทางหลวงที่ 5 พิษณุโลก, ว่าที่ร้อยตรี อวิรุทธิ์ ทับทิมแท้ ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงพิษณุโลกที่ 1, นายจรงค์ สุภัทรากุล ผอ.ส่วนสำรวจและออกแบบ (วิศวกรผู้ออกแบบ), นายจรูญ เจียมแท้ รอง ผอ.แขวงทางหลวงพิษณุโลกที่ 1 ฝ่ายวิศวกรรม, นายสมศักดิ์ จึงสำเร็จการ รก.ผอ.ส่วนกฏหมายและกรรมสิทธิ์ที่ดิน รวมทั้ง น.ส.เพ็ชรินทร์ ปฐวณิชกะ ผอ.กลุ่มงานบริหารยุทธศาสตร์ สำนักงานจังหวัดพิษณุโลก (กลุ่มจังหวัดเหนือล่าง 1) ชี้แจงรายละเอียดโครงการ
ว่าที่ร้อยตรี อวิรุทธิ์กล่าวว่า สิ่งที่สื่อมวลชนนำเสนอพอจับได้ 3 ประเด็น คือ 1. ย้ายจุดสิ่งก่อสร้าง 2. เด็กเสี่ยงเดินข้ามถนนก่อนเดินขึ้นสะพานลอย 3. ไม่สอบถามความคิดเห็น ซึ่งแขวงทางหลวงพิษณุโลกที่ 1 ขอชี้แจงว่า โครงการนี้ได้มีการนำเสนอเมื่อเดือน พ.ย. 62 ที่ผ่านมา ซึ่งรูปแบบอาจทำได้หลายรูปแบบ แต่มีแบบอยู่แล้วว่าจะทำหน้าโรงเรียนชาย
กรณี “เด็กนักเรียน พ.พ.” ต้องเดินข้ามถนนคู่ขนาดตัดใหม่เพื่อขึ้นสะพานลอยถนนหลัก ตามที่สื่อมวลชนนำเสนอ ทาง สำนักทางหลวงที่ 5 ยืนยันว่า ถนนคู่ขนาน รถวิ่งช้าไม่เกิน 50 กม./ชม. ไม่เป็นอันตรายต่อเด็กโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม และอนาคตจะของบประมาณเพิ่มเติม เพื่อขยายหรือสร้างสะพานลอยข้ามถนนคู่ขนานเชื่อมกับสะพานลอยที่มีอยู่เดิมด้วย
ขณะที่ฝ่ายกฎหมายและกรรมสิทธิ์ที่ดิน สำนักทางหลวงที่ 5 ระบุว่า ผู้คัดค้านมีสิทธิและสามารถใช้สิทธิทางศาลปกครอง หรือถ้าเห็นว่ากระบวนการส่วนราชการไม่ได้ทำตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ผู้มีส่วนได้เสียก็สามารถร้องไปยังรัฐมนตรีเพื่อขอให้หน่วยงานของรัฐจัดทำการประชุมครั้งที่ 2 อีกครั้งซึ่งก็มีกลไกอยู่
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้ประกาศตามเว็บไซต์และเว็บกลางของปลัดสำนักนายกฯ รวมทั้งกระบวนการรับฟังความคิดเห็นก็ได้ดำเนินการในเว็บของสำนักทางหลวง ยืนยันว่าได้ทำถูกต้องตามระเบียบสำนักนายกฯ แล้ว เปิดรับฟังความคิดเห็นแล้ว พบว่ามีจำนวนผู้เห็นด้วย 228 คน ไม่เห็นด้วย 7 คน นอกจากนี้ยังส่งเอกสารไปยังผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอีกด้วย
ผู้สื่อข่าวพยายามสอบถามมีแบบอื่นให้ประชาชนได้พิจารณาแสดงความเห็นหรือไม่ สำนักทางหลวงที่ 5 บอกว่าไม่ได้เตรียมไว้ จึงไม่ได้นำเสนอชี้แจงต่อสื่อมวลชน โดยโชว์ภาพรูปแบบเดียวที่ได้ออกแบบไว้ พร้อมสอบถามว่า เห็นด้วยหรือเหมาะสมหรือไม่เท่านั้น
อนึ่ง ก่อนหน้านี้แขวงทางหลวงฯ ได้เชิญให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและประชาชนทั่วไปแสดงความเห็น เพื่อเตรียมก่อสร้างทางลอด ครั้งที่ 1) จะสร้างไฟแดง เพื่อให้นักเรียน พ.พ.ขับรถข้ามถนน ครั้งที่ 2) จะสร้างทางลอดจากโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม (พ.พ.) เข้าสู่ทางเข้าเมือง กระทั่งครั้งที่ 3 มีความเห็นจากประชาชนและคนในโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม (พ.พ.) ให้ทำถนนลอดวงแหวน ที่ กม.0+800 เพื่อให้นักเรียนสามารถขี่จักรยานยนต์ออกจากโรงเรียนมุดข้ามถนนไปอีกฝั่งได้ แต่สุดท้ายแขวงทางหลวงพิษณุโลกที่ 1 เลือกและทำรูปแบบถนนลอดวงแหวนขึ้นไปตอนเหนืออีก 270 เมตร หรือที่ กม.1+070 เป็นการสร้างถนนคู่ขนานเพิ่ม และทำทางลอด แต่ให้คงสะพานลอยเดิม
ขณะที่กลุ่มผู้คัดค้านการย้ายจุดสร้างทางลอด ให้เหตุผลการคัดค้านว่า 1. การออกแบบที่ให้รถวิ่งวนย้อนไปย้อนมาในมุมที่แคบ รัศมีเลี้ยวรถสั้นจะมีปัญหา เพราะถนนนี้มีรถใหญ่ถึงวันละ 3,400 คันต่อวัน ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย 2. เป็นภัยอันตรายเมื่อฝนตกมาก ระดับหลังทางสูงประมาณ 2 เมตร จากระดับดินเดิม ระดับน้ำสูงสุดอยู่ที่ 0.8 เมตร จากระดับดินเดิม แต่ระดับอุโมงค์ต่ำกว่าดินเดิมอีก 1.5 เมตร จะกลายเป็นแอ่งใหญ่ ถึงแม้จะตั้งปั๊มน้ำก็ไม่น่าจะแก้ปัญหาได้ เวลาฝนตกหนัก นอกจากนั้นแล้วจะต้องทำระบบน้ำทิ้งพื้นที่ข้างทาง ทำให้เจ้าของที่ดินผู้อยู่อาศัยจะเดือดร้อน
3. เป็นแหล่งก่อให้เกิดอาชญากรรมได้ง่าย 4. จะเป็นภาระมากในการบำรุงรักษา เพื่อรักษาความปลอดภัย 5. จะเป็นปัญหาในอนาคตเมื่อมีความเจริญมากขึ้น ซึ่งที่รายงานไว้ว่าปัจจุบันมีปริมาณจราจรวิ่งบนท้องถนนประมาณ 20,000 คัน จำแนกเป็นรถบรรทุกถึง 17 เปอร์เซ็นต์ หรือ 3,400 ตันต่อวันในอนาคต แบบของโครงการลักษณะนี้จะทำให้ไม่สามารถขยายถนนและทางขนาดในอนาคต
6. รายละเอียดประกอบต่างๆ ยังไม่สมบูรณ์และเพียงพอ ควรมีแผนรวม (Master Plan) ที่สมบูรณ์ ไม่ใช่ทำไว้เฉพาะกิจในระยะสั้น และจะเป็นอุปสรรคในอนาคต 7. ทางเข้าออกช่วงจารจรด้านข้างของโครงการ อาจเกิดปัญหา weaving ระหว่างรถที่เข้าออกถนนโครงการ กับรถที่กลับรถได้ นอกจากนั้นแล้วจะเกิดปัญหากับทางเชื่อมเดิมที่มีอยู่
แต่ที่ประชุมได้หยิบหยกกรณีการก่อสร้างทางลอดครั้งนี้ หากไม่เริ่มดำเนินการตามกระบวนการก่อสร้างภายในเดือนพฤษภาคม 2563 วงเงินงบประมาณ 35,000,000 บาท อาจจะต้องตกไป