นพ.อภิชัย ลิมานนท์ นายแพทย์สาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์ เปิดเผยว่า ตามที่คณะอนุกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น จ.กาฬสินธุ์ ได้ประชุมติดตามผลการทำงาน และเป็นกรณีศึกษาในการขับเคลื่อนแผนการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2563 ซึ่งถือเป็นระยะเสี่ยงต่อการที่จะเกิดปัญหาตั้งครรภ์ในวัยรุ่นได้
เนื่องจากวัยรุ่นกลุ่มเสี่ยงได้เดินทางออกจากบ้านมาเรียนหนังสือ หรือพักกับเพื่อน กับญาติและตามหอพัก อาจจะมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเป็นเด็กหญิงแม่หรือตั้งครรภ์ในวัยรุ่นวัยเรียนได้
การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นที่ยังไม่มีความพร้อม นอกจากจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ จิตใจของเด็กหญิงแม่และเด็กที่อาจจะมีพัฒนาการล่าช้า ไม่สมวัยแล้ว ยังจะกลายเป็นปัญหาสังคม หยุดเรียนกลางคัน ตกงาน ทำให้เกิดภาวะเครียด และปัญหาอื่นๆ ตามมา
ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาดังกล่าว รัฐบาลจึงได้ออกพระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 เพื่อให้ทุกภาคส่วนเกิดการบูรณาการในการดำเนินงานร่วมกันภายใต้การกำกับติดตามของคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น และขับเคลื่อนโดยคณะอนุกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาระดับจังหวัดและกรุงเทพมหานคร
นพ.อภิชัยกล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนการดำเนินการของคณะอนุกรรมการ จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ มาจากสถาบันการศึกษา และส่วนราชการต่างๆ นั้น พบว่าสถิติการเป็นเด็กหญิงแม่หรือตั้งครรภ์ในวัยรุ่นลดลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะในปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้น ที่มีมาตรการป้องกันการเกิดโรค ทั้งกำหนดให้อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ ทุกคนปฏิบัติตนตามมาตรการทางสังคม และมี พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกมา ส่งผลให้ลดความเสี่ยงและจำนวนเด็กหญิงแม่หรือตั้งครรภ์ในวัยรุ่นลงเป็นจำนวนมาก
“อย่างไรก็ตาม ในช่วงเปิดภาคเรียนใหม่ปีการศึกษา 2563 ภายใต้สถานการณ์ป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งคณะอนุกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น จ.กาฬสินธุ์ ยังจะต้องขับเคลื่อนภารกิจต่อไปอย่างเข้มข้น ทั้งปฏิบัติตามมาตรการป้องกันอย่างเคร่งครัด และเฝ้าระวังวัยรุ่น นักเรียน นักศึกษา ที่จะมีพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเป็นเด็กหญิงแม่และตั้งครรภ์ในวัยรุ่นอีกด้วย” นพ.อภิชัยกล่าว