อุบลราชธานี - รมช.มหาดไทย รุดดูโครงการปรับปรุงพัฒนาแหล่งน้ำรองรับน้ำท่วมและภัยแล้งอ่างเก็บน้ำหนองช้างใหญ่ เพิ่มพื้นที่เก็บน้ำเพิ่มเป็น 23 ล้านลูกบาศก์เมตร หนุนพื้นที่เพาะปลูกได้ 12,000 ไร่ใน 2 อำเภอของอุบลฯ
นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งกำกับดูแลการใช้ประโยชน์ที่ดินของรัฐ เข้าดูโครงการพัฒนาปรับปรุงอ่างเก็บน้ำหนองช้างใหญ่ เนื้อที่กว่า 7,000 ไร่ ใช้แก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง ตั้งอยู่บ้านแคน ต.ยางสักกระโพลุ่ม อ.ม่วงสามสิบ จ.อุบลราชธานี โดยโครงการดังกล่าว สำนักงานชลประทานที่ 7 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับงบประมาณผูกพันต่อเนื่อง 3 ปี จากปี 2562-2564 เพื่อขุดลอกหนองน้ำที่เคยตื้นเขินจากตะกอนดินที่สะสมมานาน เพราะก่อสร้างมานานกว่า 60 ปี อดีตสามารถรองรับน้ำได้เพียง 7 ล้านลูกบาศก์
การขุดลอกหนองน้ำครั้งใหม่ยังมีการเสริมคันดินให้สูงขึ้นจากเดิมอีก 50 เซนติเมตร เพื่อให้มีพื้นที่รองรับน้ำเพิ่มขึ้นเป็น 23 ล้านลูกบาศก์เมตร พร้อมก่อสร้างสถานีควบคุมและจ่ายน้ำด้วยไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เพื่อใช้จ่ายน้ำเข้าสู่ระบบชลประทานในพื้นที่ 8 หมู่บ้าน 3 ตำบล 2 อำเภอ จากเดิมสามารถจ่ายน้ำได้เพียง 4,000 ไร่ เป็น 12,000 ไร่ เกษตรกรกว่า 2,000 ครอบครัวได้รับประโยชน์จากพื้นที่ใช้น้ำที่เพิ่มขึ้นจากการปรับปรุงพัฒนาครั้งนี้
สำหรับอนาคตจะมีการต่อยอด จากใช้เป็นแหล่งรองรับน้ำในฤดูน้ำหลากจากลำห้วยวังโฮ ลำน้ำสาขาของแม่น้ำมูล เพื่อแก้ปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ และใช้เป็นแหล่งเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งแล้วจะทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางน้ำตามธรรมชาติ รวมทั้งให้เป็นพื้นที่เลี้ยงปลาในกระชังของเกษตรกรผู้เลี้ยงปลา เพื่อสร้างอาชีพเพิ่มขึ้นให้กับประชาชนในพื้นที่รอบอ่างเก็บน้ำหนองช้างใหญ่แห่งนี้ด้วย
ด้านนายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงการพัฒนาปรับปรุงหนองช้างใหญ่ ทำให้ประชาชนและเกษตรกรที่อาศัยอยู่รอบอ่างเก็บน้ำมีความมั่นคงเรื่องน้ำอุปโภคบริโภค รวมทั้งน้ำใช้ในการทำเกษตรกรรมแก่พี่น้องเกษตรกรที่จำเป็นต้องใช้น้ำทำการเกษตร แม้อนาคตประชาชนในพื้นที่ ต้องเจอภัยในฤดูแล้งปีหน้า ก็มั่นใจจะมีน้ำที่เก็บไว้ใช้อย่างพอเพียงแน่นอน
นายนิพนธ์ยังกล่าวถึงภาพรวมของสถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้ ขณะนี้ประเทศไทยกำลังก้าวพ้นภาวะภัยแล้ง เพราะย่างเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว โดยคาดว่าหน้าฝนปีนี้จะมีปริมาณน้ำฝนมากกว่าปีที่ผ่านมา เมื่อรัฐบาลมีการใช้งบประมาณปรับปรุงพัฒนาแหล่งใช้เก็บกักน้ำที่ตื้นเขินทั่วประเทศในปีที่ผ่านมาก็จะทำให้ทั่วประเทศ มีน้ำอุปโภคบริโภค และทำเกษตรกรรมในปีหน้าอย่างเพียงพอแน่นอน