xs
xsm
sm
md
lg

แลกอีก! ทัพอากาศขนหอมมะลิทุ่งกุลาฯ แลกปลากะตักพังงา มูลค่ากว่า 3 แสนบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อุบลราชธานี - แลกอีก ทัพอากาศนำเครื่อง C130 ขนข้าวสารหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ จ.ศรีสะเกษ กว่า 10 ตันแลกปลากะตัก จ.พังงา เผยเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี คาดหลังโควิด-19 สงบมีโอกาสต่อยอดแลกเปลี่ยนสินค้าที่มีคุณค่าทางโภชนาการในกลุ่มสหกรณ์การเกษตรด้วย

พลอากาศโท ตรีพล อ่องไพฑูรย์ เจ้ากรมกิจการพลเรือนทหารอากาศ พร้อมด้วยนายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ร่วมส่งมอบ “ข้าวหอมมะลิ 10 เปอร์เซ็นต์ และข้าวหอมมะลิเอไรซ์” น้ำหนักกว่า 10 ตัน ไปแลกปลากะตัก จ.พังงา
วันนี้ (27 พ.ค.) ที่กองบินที่ 21 จ.อุบลราชธานี พล.อ.ท.ตรีพล อ่องไพฑูรย์ เจ้ากรมกิจการพลเรือนทหารอากาศ พร้อมด้วย นาวาอากาศเอก วัชรพล นวลเป็นใย ผู้บังคับการกองบิน 21 นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ร่วมส่งมอบ “ข้าวหอมมะลิ 10 เปอร์เซ็นต์ และข้าวหอมมะลิเอไรซ์” น้ำหนักกว่า 10 ตัน ของสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส.ศรีสะเกษ

เพื่อนำไปแลกเปลี่ยนกับปลาฉิ้งฉ้าง หรือปลากะตัก และกะปิ ของสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส.พังงา จำกัด โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง เพื่อกระจายอาหารทะเลคุณภาพมีโภชนาการสูงจากชาวเล ให้ชาวนาในภาคอีสาน ที่มีข้าวหอมมะลิชั้นเลิศจากแหล่งปลูกทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งเป็นที่รู้จักดีของคนทั่วโลก

พล.อ.ท.ตรีพล อ่องไพฑูรย์ เจ้ากรมกิจการพลเรือนทหารอากาศ เปิดเผยว่า โครงการนี้เป็นโครงการต่อเนื่องการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างชุมชนที่รัฐบาลและกองทัพอากาศให้ความสำคัญ โดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ทำให้เกษตรกรทั้งสองฝ่ายที่มีการหารือได้ประโยชน์จากการแลกเปลี่ยนอาหารระหว่างกัน ซึ่งจะสร้างความเข้มแข็ง สร้างความร่วมมือระหว่างเกษตรกรด้วยกันเองในอนาคต

วันนี้ กองทัพอากาศได้ส่งเครื่องบินลำเลียง C130 เข้ามาสนับสนุนขนข้าวไปแลกปลา เพื่อช่วยเหลือพี่น้องผู้ประกอบอาชีพทำประมงในพื้นที่จังหวัดพังงา ซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 เพราะพ่อค้า แม่ค้า ตลอดจนร้านอาหาร สถานบันเทิง โรงแรม ต้องปิดกิจการจากการล็อกดาวน์ ไม่สามารถขายปลาทะเลที่หามาได้ ทำให้ขาดรายได้และไม่มีเงินซื้อข้าวสาร รวมทั้งปลาทะเลที่หามาได้ก็ถูกทิ้งไว้จนเน่าเสียหาย




ด้าน นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า การที่กองทัพอากาศมาเป็นสะพานเชื่อมนำข้าวของจังหวัดศรีสะเกษที่เป็นข้าวคุณภาพจากทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งดีที่สุดของประเทศไทย แลกปลาชาวเล จ.พังงา ซึ่งเป็นปลาที่มีคุณภาพ ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แม้มีมูลค่าไม่มาก แต่ในอนาคตหลังจากวิกฤตโควิด-19 สหกรณ์ของสองจังหวัดที่มีความสัมพันธ์กัน มีโอกาสแลกเปลี่ยนสินค้าที่มีคุณค่าทางโภชนาการในกลุ่มสหกรณ์การเกษตรต่อไปด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น