ฉะเชิงเทรา - วอนช่วย! ชาวบ้านริมฝั่งแม่น้ำบางปะกง เจอปัญหาน้ำเซาะบ้านนานหลายปี วันนี้ยังไร้เงาหน่วยงานเกี่ยวข้องช่วยเหลือ ชี้เหตุแนวตลิ่งทรุดหนักเกิดจากการใช้พื้นที่ปากคลองประเวศบุรีรมย์ ระบายน้ำจากกรุงเทพฯ จนเกิดการกัดเซาะครั้งใหญ่ รวมทั้งการก่อสร้างเขื่อนทดน้ำเมื่อ 20 ปีก่อน
วันนี้ (23 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจาก นายเมธี วงษ์หอย อายุ 65 ปี ชาว อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา ว่าบ้านที่อยู่อาศัยมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย ซึ่งก่อสร้างบนที่ดินเดิมซึ่งเป็นร่องสวนหมาก พลู และมะพร้าว เนื้อที่ประมาณเกือบ 4 ไร่ ได้ถูกน้ำในลำน้ำบางปะกงกัดเซาะเป็นประจำทุกปี จนในวันนี้บ้านหลังดังกล่าวกำลังจะพังถล่มลงมาจากผลของการยุบตัวของแผ่นดินริมแม่น้ำเมื่อประมาณ 6-7 เดือนก่อน
ทั้งปัญหาแผ่นดินริมฝังแม่น้ำบางปะกงที่ถูกกัดเซาะอย่างต่อเนื่อง เริ่มเห็นผลชัดเจนตั้งแต่เมื่อครั้งที่มีการก่อสร้างเขื่อนทดน้ำบางปะกง เมื่อประมาณ 20 ปีก่อน ซึ่งทำให้ระดับน้ำในลำน้ำขึ้นลงผิดปกติหลายครั้งในช่วงระยะเวลา 1 วัน จนเป็นเหตุทำให้แผ่นดินชายขอบตลิ่งพังทลายลงสู่ลำน้ำ
และเมื่อครั้งที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 กรมชลประทาน ได้เปลี่ยนเส้นทางระบายน้ำจากลุ่มน้ำเจ้าพระยาในพื้นที่ภาคกลางและภาคเหนือ จากการผันข้ามลำน้ำจากกรุงเทพฯ ผ่านมาทางคลองประเวศบุรีรมย์ เพื่อระบายลงสู่ลำน้ำบางปะกง จึงยิ่งทำให้เกิดการกัดเซาะของกระแสน้ำอย่างรุนแรง และลุกลามเข้ามายังในพื้นที่ใน ต.สนามจันทร์ อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา
“หลังเกิดการพังทลายชาวบ้านได้พยายามที่จะช่วยเหลือตัวเอง ด้วยการทำแนวป้องกันจากเดิมใช้ไม้ไผ่ปักแต่ก็ไม่สามารถที่จะต้านทานกระแสน้ำได้ จึง พยายามสร้างแนวเขื่อนด้วยการนำเศษหัวเสาเข็มมาปัก แต่ก็ยังเอียงลงสู่ลำน้ำอีก ขณะที่เพื่อนบ้านบางรายที่มีทุนทรัพย์ได้ทำแนวหินทิ้ง และบางรายทำแนวเขื่อนป้องกันตลิ่งแบบคอนกรีต แต่ล่าสุดแนวเขื่อนคอนกรีตก็ได้พังทลายจมลงไปในน้ำ หายไปทั้งแถบตลอดความยาวกว่า 70 เมตรเช่นกัน”
นายเมธี ยังบอกอีกว่า ที่ผ่านมาตนเองและชาวบ้านในพื้นที่ได้เคยเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนผ่านทาง อ.บ้านโพธิ์ เพื่อให้นำเสนอผู้ว่าราชการจังหวัด กรมชลประทาน รวมทั้งประตูระบายน้ำท่าถั่ว (ฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 1) โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนทดน้ำบางปะกง ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นเหตุ แต่ทุกหน่วยงานล้วนแต่ระบุว่าเป็นพื้นที่มีความเสี่ยงสูงในการพังทลาย และราชการไม่มีงบประมาณที่จะเข้ามาช่วยเหลือได้เนื่องจากจุดที่เกิดเหตุเป็นที่ดินเอกชน หรือที่ดินส่วนตัว
“วันนี้ชาวบ้านหมดหนทางที่จะป้องกันตนเองได้แล้ว จึงต้องร้องขอความช่วยเหลือผ่านสื่อมวลชน เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาหาทางช่วยเหลือ รวมทั้งทำแนวหินทิ้งป้องกันตลิ่งพังให้เป็นการด่วน” นายเมธี ระบุ