xs
xsm
sm
md
lg

ยังแล้งกระหน่ำ! น้ำยมพิจิตรแห้งผาก-นาข้าวนครสวรรค์ร้าง ชาวนาท่าตะโกเสี่ยงหว่านแห้งรออานิสงส์พายุอำพัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พิจิตร/นครสวรรค์ - กรมชลประทานเร่งสร้างฝาย-ประตูระบายน้ำกั้นน้ำยมพิจิตรที่แห้งผากแทบทั้งสาย เก็บน้ำให้ได้ 50 ล้าน ลบ.ม.ช่วยพื้นที่เกษตร 5 หมื่นไร่ ขณะที่นาข้าวนครสวรรค์ถูกทิ้งร้างสุดลูกหูลูกตา ชาวนาท่าตะโกต้องเสี่ยงหว่านแห้งรอฝน


แม้จะเริ่มเข้าสู่ฤดูฝนปี 2563 แต่ “แม่น้ำยม” ในพื้นที่พิจิตรยังคงแห้งขอดแทบทั้งสาย ส่งผลกระทบต่อพื้นที่เกษตรลุ่มน้ำยมกว่า 50,000 ไร่ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะแม่น้ำยมเป็นแม่น้ำสายเดียวที่ไม่มีจุดกักเก็บน้ำ ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก ภัยแล้งรุนแรงในหน้าแล้งมาทุกปี

นายธีระพงศ์ เพ็ชรพงษ์ นายก อบต.รังนก อ.สามง่าม จ.พิจิตร เปิดเผยว่า เดิมชาวบ้านในลุ่มน้ำยมเรียกร้องอยากให้รัฐบาลสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น แต่ติดปัญหาด้านมวลชนและสิ่งแวดล้อมจนล้มโครงการไป จากนั้นจึงมีการผลักดันก่อสร้างอาคารบังคับน้ำในแม่น้ำยมเป็นช่วงๆ แบบขั้นบันไดเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตร จึงเกิดการก่อสร้าง ปตร.ท่าแห ต.กำแพงดิน ขึ้น ซึ่งขณะนี้ได้ลงมือดำเนินการก่อสร้างแล้ว

ถัดไปคือฝายไฮดรอลิก (Hydraulic) แบบฐานพับได้กว้าง 68 เมตร สูง 3.60 เมตร ที่กำลังก่อสร้างแทนฝายยางสามง่าม ต.รังนก ใช้งบประมาณ 160 ล้านบาทเศษ ดำเนินการโดยกรมชลประทานสร้างเอง และได้ลงมือก่อสร้างเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 4 เดือนก็จะแล้วเสร็จทันฤดูน้ำหลากของปี 63 สามารถกักเก็บน้ำได้ประมาณ 16 ล้านลูกบาศก์เมตร

ส่วนแม่น้ำยมตอนใต้เขต อ.โพธิ์ประทับช้าง ก็กำลังมีการก่อสร้างประตูระบายน้ำบ้านวังจิก และประตูระบายน้ำโพธิ์ประทับช้างอีก 2 แห่งด้วย


นายนิวัตน์ธนา เพ็ชร์สุขุม ผอ.โครงการก่อสร้างสำนักงานชลประทาน ที่ 3 จ.พิษณุโลก และนายอำนาจ อินทร์วงศ์แก้ว ผอ.โครงการชลประทานพิจิตร กล่าวระหว่างนำ ส.ส.พปชร.พิจิตร และตัวแทนคือนายพรชัย อินทร์สุข เขต 1 นายภูดิท อินสุวรรณ์ เขต 2 พร้อมตัวแทนของนายสุรชาติ ศรีบุศกร ส.ส.พปชร.เขต 3 ลงดูพื้นที่ก่อสร้าง ว่าถ้าโครงการก่อสร้างฝาย-ประตูระบายน้ำ รวมถึงฝายยางตอนท้ายน้ำอีก 2 จุด ทั้งหมดสร้างเสร็จ จะทำให้แม่น้ำยมมีน้ำกักเก็บก่อนสิ้นฤดูฝนประมาณ 50 ล้าน ลบ.ม. เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคและใช้ในพื้นที่การเกษตรลุ่มน้ำยมทั้งหมดไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นไร่


ส่วนจังหวัดนครสวรรค์ที่อยู่ถัดจากพิจิตรลงไปนั้น ล่าสุดก็ต้องประกาศพื้นที่ภัยแล้ง 6 อำเภอ 26 ตำบล 164 หมู่บ้าน มีพื้นที่การเกษตรเสียหายกว่า 140,000 ไร่ ซึ่งล่าสุดเจ้าหน้าที่ศูนย์ฝนหลวงภาคกลางนครสวรรค์ ได้บินสำรวจสภาพพื้นที่ พบว่าแหล่งน้ำธรรมชาติ-แม่น้ำสายหลักต่างๆ แห้งหลายพื้นที่ นาข้าวจำนวนมากถูกปล่อยรกร้างเนื่องจากยังไม่สามารถเริ่มฤดูกาลเพาะปลูกได้

ขณะที่ชาวนาท่าตะโกหลายรายก็ต้องทำนาแบบหว่านแห้งรออานิสงส์พายุอำพัน โดยส่วนใหญ่ต่างบอกว่าหากทำนาครั้งนี้ไม่มีฝนตกตามกรมอุตุฯ ประกาศ ชาวนาในพื้นที่จะประสบปัญหาการขาดทุนกันเป็นจำนวนมากแน่นอน


นางบุญนาค สิทธิ ชาวนาพื้นที่หมู่ 7 ต.วังมหากร อ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์ บอกว่าปกติช่วงนี้ทุกปีจะมีฝนตกและมีแหล่งน้ำตามธรรมชาติเหลือเพียงพอ แต่ในปีนี้มีฝนตกลงมาน้อยมาก แบบแทบไม่ตกเลย จึงจำเป็นต้องหว่านข้าวบนแปลงนาและไถกลบรอฝนที่จะมากับพายุอำพัน ซึ่งหวังว่าอาจจะมีฝนตกลงมาช่วยบรรเทาภาวะฝนแล้งและฝนทิ้งช่วงได้ แต่ถ้าไม่มีฝนตกลงมาภายใน 15 วัน เมล็ดข้าวที่หว่านก็เสียหายขาดทุนแน่ แต่ก็ต้องเสี่ยง




กำลังโหลดความคิดเห็น