ภาคกลาง - เปิดเทอม 1 ก.ค.เด็กนักเรียนร่วมเกือบ 8 หมื่นอดอาหารกลางวันและนม เลขาฯคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน แจ้งว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่สามารถให้เงินอุดหนุนอาหารกลางวันและอาหารเสริม (นม) แก่เด็กนักเรียนที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร (เด็กรหัส G)
นายสุรพงษ์ กองจันทึก อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ เปิดเผยว่า เมื่อไม่นานนี้ ทางอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้มีหนังสือถึงเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน แจ้งว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่สามารถให้เงินอุดหนุนอาหารกลางวันและอาหารเสริม (นม) แก่เด็กนักเรียนที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร (เด็กรหัส G) ซึ่งจะส่งผลให้เมื่อเปิดเทอมปีการศึกษา 2563 ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 นี้ เด็กนักเรียนจำนวน 78,897 คน จะไม่มีอาหารกลางวันและนมกิน
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า เด็กเหล่านี้เป็นกลุ่มเป้าหมายตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 5 กรกฎาคม 2548 ที่ขยายโอกาสทางการศึกษาแก่บุคคลที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร หรือไม่มีสัญชาติไทย สามารถเข้าเรียนได้โดยจำกัดระดับประเภทหรือพื้นที่การศึกษา ทั้งจัดสรรงบประมาณอุดหนุนอัตราเดียวกับรายหัวที่จัดสรรให้แก่เด็กไทย เป็นไปตามหลักการศึกษาเพื่อทุกคน หรือ education for all ทางกระทรวงศึกษาธิการได้จัดการศึกษาให้เด็กเหล่านี้ ตามหลักสิทธิเด็กและรัฐธรรมนูญตลอดมา โดยได้รับความร่วมมือและสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเรื่องอาหารกลางวันและนมด้วยดีมาตลอด แต่คาดไม่ถึงว่ากรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจะตัดการอุดหนุน
ทั้งนี้ เด็กเหล่านี้เป็นกลุ่มเปราะบาง กลุ่มชายขอบ มีจำนวนมากในพื้นที่ห่างไกล พ่อแม่มีฐานะยากจน การที่เด็กอดอาหารกลางวันและนม ขณะที่เพื่อนๆ ได้รับ จะส่งผลถึงร่างกาย สุขภาพ และจิตใจ รวมถึงพัฒนาการของเด็กอย่างยิ่ง อาจนำไปสู่การออกนอกระบบการศึกษาหรือเข้าไม่ถึงระบบการศึกษา และอาจเป็นสาเหตุที่พ่อแม่ผู้ปกครองไม่ส่งเด็กเข้าสู่การศึกษา ทั้งโรงเรียนก็อาจไม่อยากรับเด็กเหล่านี้ ถ้าเด็กไม่ได้รับการศึกษาก็จะเป็นปัญหาสังคมของไทยในอนาคตต่อไป
นายสุรพงษ์ กล่าวอีกว่า รัฐมีหน้าที่คุ้มครองเด็กทุกคนโดยไม่เลือกปฏิบัติ จึงเรียกร้องให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นกลับมาสนับสนุนและอุดหนุนอาหารกลางวันและนมสำหรับเด็กทุกคนเช่นเดิม ซึ่งสามารถทำได้โดยชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้ว ทั้งกรมการปกครองต้องเร่งออกเลข 13 หลักให้แก่นักเรียนกลุ่มนี้เพื่อให้เป็นการรับรองบุคคลตามกฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมา การดำเนินการของกรมการปกครองช้ามาก ทำให้เด็กขาดและเสียสิทธิที่ต้องได้รับไปมาก
รวมทั้งกระทรวงสาธารณสุขเร่งเสนอรายชื่อเด็กนักเรียนทั้ง 78,897 คน เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี หลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการที่จะดูแลด้านสาธารณสุขกับเด็กกลุ่มนี้แล้ว แต่ขอให้สำรวจข้อมูลจำนวนให้ชัดเจนและนำเข้าสู่การพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งปัจจุบันได้จัดทำฐานข้อมูลเด็กเหล่านี้อย่างชัดเจนถูกต้องแล้ว