ฉะเชิงเทรา - ปลดล็อกสาววัย 20 ปีใน จ.ฉะเชิงเทรา ถูกสังคมรังเกียจ หลัง ศบค.-ผวจ.ฉะเชิงเทรา ระบุแม่เสียชีวิตจากโควิด-19 แม้ผลตรวจในห้องแล็บ 4 แห่งยันไม่พบเชื้อ ล่าสุด โรงงานให้กลับขายอาหารได้แล้วหลังไม่พบเชื้อกับคนในครอบครัว ด้านผู้แทนทูตไต้หวัน ลงพื้นตรวจสอบยันโรงงานปลอดเชื้อ
จากกรณีที่ น.ส.พรชิตา แพต้อง อายุ 20 ปี และนายภีรภัทร แพต้อง อายุ 44 ปี บุตรสาวและสามีของ นางสมปอง พุธซ้อน อายุ 43 ปี ชาว อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา ที่เสียชีวิตหลังเข้ารักษาอาการท้องเสียจากการบริโภคยำหอยแครงที่ซื้อมาจากตลาดนัดใน อ.สนามชัยเขต กระทั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) และนายระพี ผ่องบุพกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา ที่ได้ระบุว่า เป็นผู้ป่วยติดเชื้อโรคโควิด-19 และเป็นผู้เสียชีวิตรายที่ 33 ของประเทศเมื่อวันที่ 7 เม.ย.2563
ทำให้ตนเองและครอบครัวได้รับความเดือดร้อนจากการถูกรังเกียจจากสังคม และยังหมดหนทางทำมาหากินเนื่องจากผู้เสียชีวิตเคยขายอาหารในโรงงานแห่งหนึ่ง ทั้งที่ในใบมรณบัตรที่ได้รับจากโรงพยาบาลที่เข้ารับการรักษาระบุสาเหตุการเสียชีวิตว่า "ติดเชื้อในกระแสเลือด" และไม่มีการยืนยันผลว่าป่วยด้วยโรคโควิด-19 อีกทั้งผลการตรวจชิ้นเนื้อปอดจากแล็บทั้ง 4 แห่ง ยังระบุว่า ผู้ตายไม่มีพันธุกรรมโคโรนาแต่อย่างใด
ล่าสุด วันนี้ (12 พ.ค.) ผู้แทนเอกอัครราชทูตไต้หวัน ประจำประเทศไทย พร้อมด้วย นายจาง เจิ้น กั๋ว รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป นางสุจิตตรา ลาภธีรวุฒิ ตัวแทนสมาคมการค้าไทยไต้หวัน ตัวแทนจากสำนักงานองค์การบริหารส่วนจังหวัดฉะเชิงเทรา หน่วยงานซึ่งได้รับการร้องเรียนจากผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ตัวแทนจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดฉะเชิงเทรา และหน่วยงานเกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานซึ่งผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ตะแกรงเหล็ก และเคสคอมพิวเตอร์ ที่ได้รับผลกระทบจากข่าวแม่ค้าขายอาหารในโรงงานเสียชีวิตจากโรคโควิด-19
ได้ร่วมกันแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนถึงผลกระทบที่เกิดกับโรงงาน ณ ห้องประชุม บริษัทไท้เชิ่งชิ่น เมทัล อินดัสเตรียล (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งในนิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ซิตี้ จ.ฉะเชิงเทรา โดยมี นายจัน ซิ หลง (MR.Jan Tzu Long) เจ้าของกิจการและผู้ก่อตั้งโรงงานว่า ขณะนี้สถานประกอบการของตนเองเป็นสถานที่ปลอดเชื้อไวรัสโควิด-19 และผลกระทบที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ทำให้คู่ค้าของบริษัทไม่กล้าสั่งซื้อสินค้าและไม่เข้ามาติดต่อทางการค้ากับโรงงาน
เช่นเดียวกับ นายเอกนฤน อาภาเกียรติคุณ ผู้จัดการโรงงาน บอกว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นนอกจากจะทำให้โรงงานต้องหยุดกิจการเป็นเวลา 3 วันแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อพนักงานภายในโรงงานอีกกว่า 200 ชีวิต ที่ต้องหยุดงานเพื่อตรวจหาเชื้อและกักตัวเองเป็นเวลา 14 วัน ไม่เพียงเท่านั้นยังทำให้คนในครอบครัวของพนักงาน ต้องพลอยถูกสั่งให้กักตัวและต้องหยุดงานไปด้วย 14 วันทำให้ขาดรายได้ไปด้วย
ส่วนครอบครัวของแม่ค้าขายอาหารในโรงงานซึ่งเสียชีวิต และถูกสั่งให้หยุดขายอาหารเป็นเวลานานกว่า 1 เดือนนั้น ล่าสุดทางโรงงานพร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้อนุญาตให้ทางครอบครัวได้กลับเข้ามาขายอาหารภายในโรงอาหารของโรงงานแล้ว หลังการตรวจไม่พบเชื้อทั้งจากครอบครัวงผู้เสียชีวิต และพนักงานภายในโรงงานทั้งหมด
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า แม้สื่อมวลชนหลายแขนงจะได้พยายามซักถามถึงการตรวจหาเชื้อ หรือวิเคราะห์ผลการตรวจ ตลอดจนการวินิจฉัยชี้ชัดเพื่อยืนยันโรคที่มีแนวโน้มว่าอาจจะผิดพลาด รวมทั้งแนวทางแก้ไขสถานการณ์และปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะผลกระทบที่เกิดกับครอบครัวของผู้เสียชีวิตจาก นายแพทย์ กสิวัฒน์ ศรีประดิษฐ์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดฉะเชิงเทรา
แต่กลับได้รับการปฏิเสธที่จะตอบคำถาม พร้อมบอกว่าตนเองเป็นเพียงเจ้าหน้าที่ในส่วนล่างที่ไม่สามารถตอบคำถามใดๆ ได้