ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - เชฟ “สุวัจน์” จับตะหลิวขั่วหมี่โคราช ผัดกะเพราไข่ดาว เปิด “ครัวหลวงพ่อ” ประกอบอาหารแจก ปชช.สู้โควิด-19 แนะคลายล็อกคู่ขนานแบบมีเงื่อนไข เพื่อสู้ 2 วิกฤตใหญ่ ทั้งวิกฤตด้านสาธารณสุขและวิกฤตเศรษฐกิจติดลบทั้งโลก ชี้นับเป็นครั้งแรกกลับมาสู่โลกของยุคเศรษฐกิจถดถอยเหมือนสมัยสงครามโลก
วันนี้ (30 เม.ย.) ที่สำนักงานพรรคชาติพัฒนา เลขที่ 2222/2 ริมถนนมิตรภาพ อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนาและนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เป็นประธานเปิดโครงการ “ครัวหลวงพ่อ” ของศูนย์คนโคราชรักจริงไม่ทิ้งกัน ร่วมฝ่าวิกฤตโควิด-19 โดยมี นายแพทย์ วรรณรัตน์ ชาญนุกูล และ นายประเสริฐ บุญชัยสุข, นางเยาวภา บุรพลชัย หรือ น้องวิว และนายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมาร่วมกิจกรรม ร่วมประกอบอาหารแจกจ่ายแก่ประชาชนคนยากจน ผู้ยากไร้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19
ครัวดังกล่าวมีที่มาจากโรงครัว (โรงบุญ) วัดบ้านไร่ ตำบลกุดพิมาน อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นลูกศิษย์พระเทพวิทยาคม หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ อดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านไร่ จัดทำเป็นข้าวกล่องแจกจ่าย เช่น ข้าวผัดหมูยอ น้ำพริกเผา-ไข่ดาว, ข้าวกะเพราะไก่-ไข่ดาว, ขั่วหมี่โคราช, ไอศกรีมมะพร้าวสด โดยมีประชาชนผู้เดือดร้อนอุ้มลูกจูงหลานมาเข้าคิว นั่งรอเว้นระยะห่าง 2 เมตร เพื่อรับอาหารกว่า 300 คน
นายสุวัจน์กล่าวว่า จ.นครราชสีมา นอกจากที่เราได้ดำเนินการจัดทำหน้ากากอนามัยผ้าทางเลือก พร้อมเจลแอลกอฮอล์ล้างมือป้องกันโควิด-19 ประมาณวันละ 3,000 ชุด และพ่นยาฆ่าเชื้อโควิด-19 วันละหมื่นตารางเมตร ทำมาได้กว่า 1 เดือน จนตอนนี้ประชาชนมีความต้องการมากขึ้น เราจึงมีกิจกรรมช่วยเหลือสังคมเพิ่มเติมคือด้านอาหาร ก็มีทางกลุ่มแม่บ้านวัดบ้านไร่ ลูกศิษย์หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ ซึ่งช่วงโควิด-19 ทำให้ว่างงานเลยมาร่วมกันทำอาหารช่วยเหลือประชาชนชาว จ.นครราชสีมา ด้วยการจัดตั้งโครงการ “ครัวหลวงพ่อ” ประกอบอาหารที่เป็นชื่อเสียงหรือสัญลักษณ์ของโคราช คือ ขั่วหมี่โคราช และอาหารประจำวันคือ ข้าวกะเพราไก่-ไข่ดาว โดยแจกทุกวัน เวลา 11.00-14.00 น.
มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมากำกับดูแล การกำหนดระยะห่างการรับแจกข้าวกล่องเป็นไปตามมาตรฐาน โดยแจกจ่ายวันละ 1,000 ชุด และจะมีการเพิ่มการผลิตอาหารข้าวกล่องมากขึ้นๆ ทุกวันให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน ซึ่งถือว่าเป็นน้ำใจและเป็นการส่งกำลังใจถึงกันและกัน ฉะนั้น ศูนย์ฯ ของเราถือว่าจะช่วยกันตอบสนองในการสร้างน้ำใจในกลุ่มคนไทยด้วยกันเพื่อฝ่าฟันวิกฤตโควิด-19
ส่วนการเยียวยาเงิน 5,000 บาท มีประชาชนจำนวนมากยังไม่ได้รับ และหลายคนคิดสั้นฆ่าตัวตายนั้น ตอนนี้เท่าที่ดูมาตรการของรัฐบาลพยายามที่จะให้มากที่สุดเท่าที่จะครอบคลุมได้ แต่เนื่องจากคนมากกว่า 20 ล้านคน บางทีอะไรที่เริ่มต้นใหม่ๆ อาจติดขัดปัญหานั่นนี่บ้าง ฉะนั้นเป็นเรื่องที่หน่วยงานต่างๆ จะต้องรีบไปแก้ไข เพื่อให้ครอบคลุมและสะดวก สามารถรับเงินช่วยเหลือเงินจากทางรัฐบาลได้รวดเร็วขึ้น
ส่วนเงิน 1.9 ล้านล้านบาท ที่ใช้อะไรบ้างต้องชี้แจงทุก 3 เดือนหรือไม่นั้น เนื่องจากการกู้เงินออกเป็นพระราชกำหนด วันที่เปิดสภาฯ ต้องเข้าสู่ที่ประชุมสภา วันนั้นจะเป็นเวทีที่จะได้สอบถามกัน โดยฝ่ายค้านอาจถามรัฐบาลและรัฐบาลก็จะได้ใช้โอกาสนี้ในการชี้แจงว่า 1.9 ล้านล้านบาท จะสามารถไปกอบกู้เศรษฐกิจ มีรายละเอียดการดำเนินการอย่างไร ฉะนั้น เมื่อได้ชี้แจงทำความเข้าใจแล้วก็เชื่อว่าทุกคนจะเห็นแนวทางในการแก้ไขหรือเยียวยาพี่น้องประชาชนเวลาที่เราประสบปัญหาได้
ส่วนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เชิญ 20 มหาเศรษฐีเมืองไทยไปหารือจะเรื่องอะไรและต้องชี้แจงความชัดเจนนั้น ตนคิดว่าในมุมของเรื่องเงินรัฐบาลก็มีเรื่องของ พ.ร.ก.ที่ออกมาให้รัฐบาลมีเงินสามารถมาแก้ไขปัญหา แต่ขณะนี้วิกฤตของประเทศมี 2 วิกฤต ตนคิดว่านี่เป็นครั้งแรกที่เราประสบปัญหาอย่างรุนแรงและไม่ใช่เป็นปัญหาระดับประเทศ แต่เป็นปัญหาระดับโลก และทุกประเทศได้รับผลกระทบเหมือนกันหมด คือมีทั้งวิกฤตด้านสาธารณสุข เป็นวิกฤตในเรื่องของโรคระบาดกับวิกฤตเรื่องเศรษฐกิจ โดยเฉพาะปีหน้าเขาประเมินว่าเศรษฐกิจโลกจะติดลบหมดเลย เศรษฐกิจเอเชียก็จะติดลบ ประเทศไทยก็จะติดลบ ฉะนั้นจะเป็นครั้งแรกที่กลับมาสู่โลกของยุคเศรษฐกิจถดถอยเหมือนสมัยสงครามโลก
ฉะนั้น วันนี้คนไทยต้องสู้กับ 2 วิกฤต คือ วิกฤตในเรื่องของชีวิต คือวิกฤตด้านสาธารณสุขคือวิกฤตโควิด และวิกฤตเรื่องของปากท้องคือวิกฤตเศรษฐกิจ ฉะนั้นตนเชื่อว่ารัฐบาลพยายามที่จะแสวงหาแนวทางในการรับข้อคิดเห็นจากฝ่ายต่างๆ เรื่องเศรษฐกิจถ้าเราได้รับข้อคิดเห็นจากนักธุรกิจใหญ่ๆ ที่มีเครือข่ายเศรษฐกิจที่ครอบคลุมทุกกลุ่ม รัฐบาลคงอยากรับฟังความคิดเห็นของนักธุรกิจใหญ่ๆ เขาจะมีข้อเสนอแนะอะไรมายังรัฐบาลเพื่อจะได้รวบรวมและเป็นเจตนาที่อยากจะได้ข้อคิดเห็นแนวทางจากท่านเหล่านั้นซึ่งเป็นคนที่มีประสบการณ์ เพื่อให้มาตรการต่างๆ ของรัฐบาลออกมาใช้ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจมีประสิทธิภาพ
นายสุวัจน์กล่าวถึงเรื่องการคลายล็อก หลังมีการขยายเวลาประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินไปจน 30 พ.ค.ว่า การคลายล็อกขึ้นอยู่กับสถานการณ์คลี่คลายของการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 อย่างหลายประเทศตอนนี้ล็อกดาวน์กัน แต่พอปัญหาเรื่องโควิด-19 คลี่คลายลงเขาก็จะเริ่มคลายล็อกเริ่มปลดล็อก เพราะเรื่องโควิด-19 ยิ่งยาวเท่าไหร่ความเสียหายทางเศรษฐกิจก็จะมาก ถ้าโควิด-19 ยิ่งสั้นความเสียหายทางเศรษฐกิจก็ยิ่งน้อย ฉะนั้นพอโควิด-19 เริ่มคลี่คลายเขาก็จะเริ่มมีการปลอดล็อกในลักษณะคู่ขนาน เพื่อลดผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจให้น้อยที่สุด
ฉะนั้น ขณะนี้เริ่มมีการพูดถึงว่าสถานการณ์ของประเทศถึงเวลาที่จะเริ่มปลดล็อกแล้วหรือยัง ซึ่งตนเชื่อว่าจากตัวเลขของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการติดเชื้อที่ลดลงเรื่อยๆ จนกระทั่งเหลือเลข 2 ตัว มาสองสามวัน อันนี้ตนถือว่าเป็นดัชนีที่ชี้วัดความพึงพอใจ และเมื่อตัวเลขดัชนีบอกว่าเราเริ่มเข้าสู่จุดที่เราถือว่าเราพึงพอใจแล้ว ฉะนั้นการที่จะคลายล็อกถือว่าเป็นบรรยากาศที่มีความเหมาะสม เมื่อสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น เราคิดว่าควบคุมระดับหนึ่งได้แล้ว ฉะนั้นพอเราคลายล็อกแล้วมันก็จะทำให้ลดแรงกดดันจากภาคเศรษฐกิจ ลดแรงกดดันจากทางสังคม เพราะบางทีเราไม่ได้ปฏิบัติชีวิตเหมือนปกตินานๆ มันมีแรงกดดันเกิดขึ้น ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ ทางด้านสังคม แต่ขณะเดียวกันจะคลายล็อกแบบไหนที่จะไม่ให้ปัญหาโควิด-19 กลับมา คงจะต้องมีมาตรการว่าจะคลายล็อกด้วยธุรกิจแบบไหน ด้วยสถานที่ไหน และมีมาตรการอะไรที่เจ้าของธุรกิจต้องดำเนินควบคู่ไปเพื่อป้องกันโควิด หรือมาตรการอะไรที่ผู้บริโภคจะต้องปฏิบัติตาม ฉะนั้นจะเป็นการคลายล็อกแบบมีเงื่อนไขประกอบ เพื่อไม่ให้ตัวเลขของการติดเชื้อกลับมา ทุกอย่างต้องบริหารควบคู่กันไป
ตนเห็นด้วยถ้าจะมีการคลายล็อกจะเป็นการส่งสัญญาณที่ดีว่าอย่างน้อยได้ให้กำลังใจแก่ประชาชน และเป็นการส่งสัญญาณว่าจากนี้ไปเราจะเริ่มฟื้นฟูเศรษฐกิจกันแล้ว เพราะเศรษฐกิจจะเริ่มกลับมา แต่ต้องมีการวางมาตรการควบคู่กันไปว่าเริ่มมาฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วยการคลายล็อก แต่อะไรที่ยังเป็นมาตรการที่ทางคุณหมอยังแนะนำอยู่ต้องปฏิบัติควบคู่ เราต้องมีความร่วมมือร่วมใจกันเหมือนเดิม เพื่อให้ทุกอย่างคู่ขนานและเราสามารถชนะทั้ง 2 สถานการณ์ ชนะเรื่องโควิด-19 ด้วย ชนะเรื่องเศรษฐกิจด้วย แต่จะเริ่มเมื่อไหร่ตนคิดว่าขณะนี้รัฐบาลกำลังคงอยู่ระหว่างการตัดสินใจ
“ส่วนการให้กำลังใจผู้ที่คิดสั้นตัดพ้อน้อยอกน้อยใจ พวกเราต้องคอยเป็นกำลังใจให้กันและกัน การมอบหน้ากาก ให้เจลล้างมือ มอบอาหาร ข้าวกล่อง เอาไปให้ถึงบ้าน ถุงน้ำใจเหล่านี้เป็นกำลังใจที่พวกเราส่งผ่านกันต่อๆ ไป มันจะลดแรงกดดันทางสังคม และแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ วันนี้น้ำใจของคนไทยเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการแก้ไขปัญหาทุกอย่าง” นายสุวัจน์กล่าวในตอนท้าย