ศูนย์ข่าวศรีราชา - นายกเมืองพัทยา ประชุมผู้ประกอบการ ตัวแทนสถานบันเทิงหามาตรการเชิงรุกป้องกันโรคโควิด-19 ในระยะยาว เตรียมพร้อมหากได้รับผ่อนปรนให้เปิดดำเนินการในอนาคต ด้านผู้ประกอบการเผยแม้เปิดได้ก็คงไร้เงานักท่องเที่ยว ซ้ำยังต้องแบกภาระอื้อ
จากกรณีที่คณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดชลบุรี ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เป็นประธานได้มีมติให้เมืองพัทยา จัดทำจุดคัดกรองเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หรือ Lock Down พื้นที่ต่อไปจนถึงวันที่ 4 พ.ค. และให้เปิดพื้นที่ได้ตามปกติในวันที่ 5 พ.ค.ที่จะถึงนี้ หลังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี ระบุ เมืองพัทยา เข้าเกณฑ์พื้นที่สีขาว จากการไม่พบผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ติดต่อกันถึง 16 วัน ที่สำคัญยังจะครบวงจรการเฝ้าระวังการฟักเชื้อของไวรัสโควิด-19 จาก 14 วันเป็น 21 วันตามมาตรฐานสาธารณสุข เพื่อสร้างความมั่นใจว่าเมืองพัทยา ปลอดจากเชื้อโรคไวรัสดังกล่าวได้มากที่สุดนั้น
วันนี้ (30 เม.ย.) นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา พร้อมคณะผู้บริหาร หัวหน้าส่วนราชการ ได้ประชุมร่วมกับผู้ประกอบการและตัวแทนสถานบันเทิงในพื้นที่ศาลาว่าการเมืองพัทยา จ.ชลบุรี เพื่อร่วมกำหนดมาตรการเชิงรุกในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ในสถานประกอบการ หากในอนาคตภาครัฐมีมาตรการผ่อนปรนให้สามารถเปิดดำเนินการได้
หลังรัฐบาล เริ่มมีมาตรการผ่อนปรนให้แก่ธุรกิจบางประเภทเพื่อให้สามารถขับเคลื่อนและลดภาวะความเดือดร้อนของผู้ประกอบการและแรงงานในบางส่วน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ไร้การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หรือไม่มีจำนวนผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น
ขณะที่ จ. ชลบุรี จากการชี้แจงของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ระบุแล้วว่าเข้าข่ายการเป็นพื้นที่สีขาว เนื่องจากไม่มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับเมืองพัทยา ที่ทำการปิดเมือง หรือ Lock Down พื้นที่พร้อมจัดมาตรการคัดกรองที่เข้มข้น รวมทั้งจัดชุดปฏิบัติการพิเศษในการสุ่มตรวจหาเชื้อในกลุ่มเสี่ยงตั้งแต่วันที่ 9 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งจนถึงขณะนี้ไม่พบว่ามีผู้ป่วยรายใหม่ก้าวเข้าสู่วันที่ 16 แล้ว
ทั้งนี้ แม้ปัจจุบันสถานบันเทิงในพื้นที่เมืองพัทยา จะยังไม่ได้รับอนุญาตให้เปิดดำเนินกิจการ แต่เมืองพัทยาเห็นควรว่าน่าจะมีการกำหนดมาตรการเชิงรุกในการป้องกันการแพร่ระบาดที่ชัดเจน เพื่อจะได้นำข้อมูลไปเสนอต่อส่วนกลาง และเพื่อแสดงให้เห็นว่าเมืองพัทยา มีความพร้อมที่ควรจะได้รับการผ่อนปรนในเร็ววันนี้
“ส่วนภาระที่ผู้ประกอบการยังแบกรับจากผลกระทบที่ต้องปิดกิจการนั้น เมืองพัทยาเองพยายามให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการยกเลิกการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมและภาษีต่างๆ รวมถึงค่าเช่า นอกจากนี้ ยังจัดโครงการช่วยเหลือพนักงานที่ได้รับความเดือดร้อน และประชาชนในทุกสาขาอาชีพด้วยการจัดสรรงบประมาณให้ครอบครัวละ 1,000 บาท รวมทั้งแจกข้าวสาร อาหารแห้งเป็นประจำจนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ” นายสนธยา กล่าว
ด้านตัวแทนสถานบันเทิงเมืองพัทยา บอกว่าปัญหาส่วนใหญ่ของผู้ประกอบการนอกจากจะเป็นเรื่องของค่าธรรมเนียมและภาษีที่ต้องจ่ายให้ภาครัฐแล้ว ยังมีเรื่องของเงินเดือนพนักงานที่ยังต้องแบกรับ รวมไปถึง ภาษีสรรพสามิตและระบบสาธารณูปโภคต่างๆ โดยเฉพาะค่าเช่าจากภาคเอกชนที่พบว่ากว่า 50% ยังคงเรียกเก็บเต็มอัตราจนทำให้ผู้ประกอบการได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก
“ทุกวันนี้ผู้ประกอบการแทบจะไม่สามารถแบกรับหรืออุ้มภาระต่างๆ ได้แล้ว ขณะที่กระแสข่าวที่แจ้งว่าอาจมีการผ่อนปรนให้สถานบันเทิงในเมืองพัทยา เปิดบริการได้ตามปกติในวันที่ 1 พ.ค.แต่สุดท้ายก็เลื่อนออกไปแบบไม่มีกำหนด ในส่วนของผู้ประกอบการเองก็คาดว่าสุดท้ายแล้วน่าจะยืดยาวออกไปจนถึงเดือน มิ.ย.อย่างแน่นอน”
ตัวแทนผู้ประกอบการยังเผยอีกว่า สุดท้ายแม้รัฐบาลจะผ่อนปรนให้ภาคบริการต่างๆ เปิดได้ แต่เนื่องจาก เมืองพัทยา เป็นเมืองท่องเที่ยวสากล ที่ผู้ใช้บริการส่วนใหญ่เป็นคนต่างชาติเกือบ 100% ดังนั้น หากประเทศไทยยังปิดอยู่และไม่มีสายการบินที่จะพานักท่องเที่ยวเข้ามาก็คงไม่มีประโยชน์หากจะได้รับอนุญาตให้เปิดดำเนินกิจการตามปกติ เพราะแทนที่จะได้ผลกำไรก็จะ กลายเป็นการแบกต้นทุนที่มหาศาลมากขึ้นกว่าเดิม
วอนนายกเมืองพัทยา เจรจาเจ้าของที่ดิน-ผู้ให้เช่าพื้นที่ลดราคาต่อลมหายใจ
โดยสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องการเรียกร้องต่อนายกเมืองพัทยา คือการเป็นตัวแทนหรือ “ทูตสันถวไมตรี” ในการเจรจากับเจ้าของอาคาร เจ้าของที่ดิน หรือผู้ให้เช่าพื้นที่ท่องเที่ยวต่างๆ มอบส่วนลดหรืองดเว้นค่าเช่าเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถประคับประคองและดำรงกิจการต่อไปได้จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ
ขณะที่มาตรการเชิงรุกในการป้องกันโรคโควิด-19 ในสถานบันเทิงนั้น ผู้ประกอบการจะมีการประชุมร่วมกันอย่างจริงจังอีกครั้ง ก่อนทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อเสนอต่อเมืองพัทยา
ด้าน นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา ได้รับปากที่จะให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้น พร้อมมอบหมายให้ผู้ประกอบการเร่งจัดทำแผนมาตรการเชิงรุกในการป้องกันโรคในสถานประกอบการเพื่อให้ปลอดโรคทั้งผู้ให้และผู้ใช้บริการ ก่อนรวบรวมนำเสนอจังหวัดชลบุรีและภาครัฐพิจารณาช่วยเหลือต่อไป