ศูนย์ข่าวขอนแก่น - ดีไซน์งามฯ ออแกไนเซอร์รายใหญ่สุดในอีสาน ฮึดสู้! หลังปิดฉากงานอีเวนต์ เลิกจ้างพนักงานยกชุดจากพิษโควิด-19 รุกขายก๋วยจั๊บกึ่งสำเร็จ ภายใต้แบรนด์ “พ่อใหญ่ไผ่” จับช่องทางตลาดออนไลน์ ไม่ถึงครึ่งเดือนออเดอร์ทะลัก หากโควิดคลี่คลายพร้อมคืนสู่สังเวียนเดิม แต่ไม่ทิ้งงานขายสินค้าออนไลน์
ได้รับผลกระทบกันอย่างเลี่ยงไม่ได้ทุกอาชีพจากวิกฤตแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ธุรกิจการค้าไม่ว่าไซส์ใหญ่หรือเล็กต้องยุติชั่วคราว รายได้หดหาย คนตกงานอย่างจำใจหลายสิบล้านชีวิต...“ดีไซน์งาม ครีเอชั่น” บริษัทให้บริการด้านออแกไนซ์ ผลิตสื่อประชาสัมพันธ์จัดงานอีเวนต์อย่างครบวงจรรายใหญ่สุดในภาคอีสานก็เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้เช่นกัน
ดีไซน์งามฯ บริษัทผู้ผลิตสื่อประชาสัมพันธ์ครบวงจร รับจัดอีเวนต์ทุกประเภท ถือเป็นออแกไนเซอร์รายใหญ่ในภาคอีสานก็ว่าได้ ดำเนินธุรกิจนี้มาร่วม 15 ปี โดยเฉพาะในห้วง 5 ปีหลัง ดีไซน์งามครีเอชั่นเติบโตแบบก้าวกระโดด มีงานเข้ามาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง งานต่องานแทบตลอดทั้งเดือน ลูกค้ามีทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน อย่างไรก็ตาม การระบาดโรคอุบัติใหม่ไวรัสโควิด-19 ทำให้ดีไซน์งามฯ สะดุดจนได้
ประภาส เกียรติวีรวัฒนา นักธุรกิจหนุ่มไฟแรงวัยเพียง 40 กว่า ในฐานะกรรมการผู้จัดการ บริษัท ดีไซน์งาม ครีเอชั่น จำกัด ยอมรับว่ารู้สึกช็อกกับสิ่งที่เกิดขึ้น เป็นสถานการณ์ปัญหาที่ไม่มีเค้าลางแจ้งเตือนล่วงหน้า ห้วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ดีไซน์งามฯมีงานเข้ามาต่อเนื่องแทบทั้งเดือน ตลอดทั้งปี เฉลี่ยเดือนละไม่ต่ำกว่า 10 งาน ใหญ่น้อยคละกันไป แต่พอย่างเข้าเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา เริ่มได้รับผลกระทบ ถูกลูกค้ายกเลิกการจัดงานลงสัก 20% ก็พอรับได้ แต่ล่วงมาเดือน มี.ค.ถูกยกเลิกงานเพิ่มมากขึ้น ลูกค้าหลายรายขอเลื่อนจัดงานออกไปไม่มีกำหนด งานเหลือปักมุดในปฏิทินประมาณ 40% สุดท้ายราวปลาย มี.ค.เข้าสู่เดือน เม.ย.งานถูกยกเลิกหมดไม่เหลือแม้แต่งานเดียว
ขณะที่รายได้หายไปหมด แต่ภาระค่าใช้จ่าย ทั้งเงินเดือนพนักงานที่มีอยู่ทั้งหมด 27 คน ยอดรวมต่อเดือนมากกว่า 6-7 แสนบาท ไม่รวม ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าใช้จ่ายจิปาถะภายในองค์กรยังคงเดินไปปกติ แรกๆ ก็มึนไปหมดไม่มีทางออก ไม่รู้ว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร ซึ่งก็ได้รับคำแนะนำจากผู้ใหญ่ ให้ปิดบริษัท แล้วให้ลูกน้องเดินเรื่องขอสิทธิ์รับเงินเยียวยากรณีว่างงานจากประกันสังคม ซึ่งจะได้รับชดเชย 62% ของค่าจ้าง เป็นเวลา 3 เดือน เมื่อไม่มีพนักงานก็ไม่ต้องแบกค่าใช้จ่ายที่เป็นเงินเดือน
...แต่ในวิกฤตมักมีโอกาสอันท้าทายใหม่ๆ เข้ามาเสมอ สำหรับผู้ที่ไม่ยอมจำนนกับสถานการณ์ปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่
ประภาสเล่าว่า เมื่อทุกอย่างหยุดหมดทำให้เขาได้พัก ได้ใช้เวลากับคนในครอบครัวมากขึ้น ได้พักอ่านหนังสือที่เคยซื้อไว้แต่ไม่เคยว่างได้เปิดอ่าน ได้คิดทบทวนการทำมาหากิน จู่ๆ ก็เกิดแสงสว่างขึ้นในหัวว่าจะต้องปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม พฤติกรรมของคนสมัยปัจจุบันให้ความสำคัญกับสื่อออนไลน์มากขึ้น การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้คนเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น ผลักดันให้เกิดสังคมไม่ใช้เงินสด สังคมออนไลน์เข้ามามีอิทธิพลต่อชีวิตประจำวันของผู้คนอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรมจับต้องได้ เน้นความสะดวกสบายจากการใช้เทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องกับการกินการอยู่ ทำให้ได้ข้อคิด วางแผนที่จะค้าขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ขึ้นมาทันที
ประภาสบอกว่า แวบแรกสินค้าที่คิดจะนำมาขายผ่านช่องทางออนไลน์ คือ ก๋วยจั๊บญวนเมืองอุบล แบบบรรจุถุงสำเร็จรูป เพราะเป็นอาหารท้องถิ่นของคนอีสาน คุ้นเคยกันมาตั้งแต่เกิด รับประทานง่าย ใช้แบรนด์ว่า “พ่อใหญ่ไผ่” ซึ่งเป็นชื่อเล่นของตัวเอง หลังจากตกผลึกว่าจะขายตัวนี้แหละ...ก็หาเบอร์กดโทรศัพท์คุยกับโรงงานทำก๋วยจั๊บญวนชื่อดังของเมืองอุบลฯ
ท้ายสุดก็ว่าจ้างให้เขาเป็นผู้ผลิตตัวสินค้าให้ เพราะเขาทำเป็นธุรกิจ SMEs อยู่แล้ว โดยใส่ Brand “พ่อใหญ่ไผ่” เข้าไปให้เป็น Product น้องใหม่ในตลาดก๋วยจั๊บบรรจุห่อ ขายปลีกราคาห่อละ 29 บาท เป็นก๋วยจั๊บกึ๋งสำเร็จรูปคล้ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ทำกินง่าย แต่ที่พิเศษกว่านั้นคือมีหมูยออบแห้ง หอมเจียว เครื่องปรุงรสในซองเบ็ดเสร็จ
ส่วนช่องทางจำหน่าย ไม่มีหน้าร้าน ไม่ฝากวางขายตามร้านค้าทั่วไป ขายออนไลน์เพียงอย่างเดียว ต้องทำให้ต้นทุนต่ำที่สุด ที่เลือก Live ครั้งแรกผ่านเฟซบุ๊กตนเองเพราะมีคนรู้จักเยอะ แต่ต่อไปจะไลฟ์ผ่านแฟนเพจ “ก๋วยจั๊บพ่อใหญ่ไผ่” เป็นหลัก เริ่มไลฟ์ไปเมื่อ 20 เมษายนที่ผ่านมา ได้รับการตอบรับดีเกินคาด ยอดสั่งซื้อเข้ามาในคราวเดียวกว่า 150 คำสั่ง มากกว่า 4,000 ห่อ จากที่สั่งสินค้ามาไว้แค่ 2,000 ห่อ
การจัดส่งให้ลูกค้าใช้ทุกช่องทางทั้งผ่านไปรษณีย์ไทย และบริษัทบริการส่งพัสดุสินค้าของเอกชนคิดค่าขนส่งเพิ่มตามค่าส่งจริง ที่สำคัญยังเปิดโอกาสให้อดีตพนักงานของดีไซน์งาม ที่มีสินค้าด้านอาหารการกิน นำมาฝากขายผ่านแบรนด์ “พ่อใหญ่ไผ่” ได้อีกด้วย ถือเป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เช่น น้ำส้มคั้นสด ปลาร้าบอง
“ออเดอร์ที่เข้ามาหลังไลฟ์สดสองครั้งแรกจำนวนหลายพันห่อนั้น ผมมองว่ายังเป็นกำลังซื้อเทียมมากกว่า ส่วนใหญ่เป็นเพื่อนที่รู้จักในเฟซบุ๊ก ทั้งเพื่อนสมัยเรียน พรรคพวกในแวดวงธุรกิจ แวดวงสื่อด้วยกัน หรือแม้แต่ญาติๆ เอง ทุกคนต้องการช่วยเหลือในยามลำบากมากกว่า ก็ขอขอบคุณที่เป็นกำลังใจให้” ประภาสกล่าว และบอกว่า
“ก๋วยจั๊บพ่อใหญ่ไผ่” จะสามารถแจ้งเกิดในตลาดออนไลน์ได้หรือไม่ คงต้องรอประเมินจากยอดขายหลังจากนี้ไม่เกิน 3 เดือน หากมียอดสั่งซื้อเข้ามาต่อเนื่องและเป็นกลุ่มลูกค้าทั่วไปที่ไม่ใช้พรรคพวกที่เรารู้จักเพียงอย่างเดียว ที่สำคัญต้องมีการสั่งซื้อซ้ำในระดับที่น่าพอใจ...นั่นหมายความว่า ก๋วยจั๊บบรรจุห่อกึ่งสำเร็จภายใต้แบรนด์พ่อใหญ่ไผ่ ได้แจ้งเกิดในตลาดอาหารออนไลน์แล้ว หลังจากนั้นขึ้นอยู่กับว่าจะพัฒนาต่อยอดไปในทิศทางใด
อย่างไรก็ตาม ประภาสบอกว่าในอนาคต เมื่อวิกฤตโรคอุบัติใหม่ไวรัสโควิด-19 สร่างซาหายไปจากสังคมไทยและสังคมโลก ดีไซน์งามฯต้องกลับไปพลิกฟื้นรับงานจัดอีเว้นท์ ทำธุรกิจออแกไนซ์เซอร์เช่นเดิม เพราะต้นทุนเดิมมีพร้อมหมด ทั้งฐานลูกค้า บุคลากร พร็อพ โดยเฉพาะความถนัด แต่ไม่ได้หมายความว่า เราจะทิ้ง “ก๋วยจั๊บพ่อใหญ่ไผ่” ก๋วยจั๊บแบรนด์นี้จะเป็นอีก Product หนึ่งของดีไซน์งามฯ
โดยทางบริษัทฯ อาจตั้งทีมงานขึ้นมาอีกแผนกหนึ่งเพื่อดูแลสินค้าขายตลาดออนไลน์โดยเฉพาะ มีก๋วยจั๊บเป็นสินค้าหลักและสรรหาสินค้ากลุ่มอาหารแปรรูปตัวอื่นมาเสริม เพิ่มมูลค่าด้วยแพกเกจจิ้งใหม่ที่ดูทันสมัย เช่น กุนเชียง หมูหยอง แจ่วบอง ฯลฯ สินค้าทุกตัวจะขายภายใต้แบรนด์เดียวกัน คือ “พ่อใหญ่ไผ่”