ศรีสะเกษ - ศาลจังหวัดกันทรลักษ์ ยกฟ้องคดีตำรวจจับ 2 หนุ่มฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อไม่สวมหน้ากากอนามัยออกนอกบ้านป้องกันโรคโควิด-19 ระบุกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อออกคำสั่งกำหนดเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ และไม่มีกฎหมายกำหนดห้ามและกำหนดโทษไว้
วันนี้ (16 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ สภ.เบญจลักษ์ จ.ศรีสะเกษ ร.ต.อ.กฤษดา นาคสุข พนักงานสอบสวน สภ.เบญจลักษ์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 15 เม.ย. 2563 ที่ผ่านมา ตนได้ทำบันทึกข้อความ รายงาน ผกก.สภ.เบญจลักษ์ เรื่อง ศาลจังหวัดกันทรลักษ์มีคำพิพากษายกฟ้องในคดีอาญาที่ 104/2563 ฐานความผิดกระทำการหรือดำเนินการใดๆ ซึ่งอาจก่อให้เกิดสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดเผยแพร่ออกไปในสถานที่สาธารณะหรือสถานที่ใดๆ
โดยคดีนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 เม.ย. 2563 เวลาประมาณ 10.00 น.ที่ผ่านมา ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เบญจลักษ์ตั้งจุดตรวจอยู่บริเวณถนนสาธารณะสาย 2085 กันทรลักษ์-กันทรารมย์ บริเวณตู้ยามเฉลิมพระเกียรติ บ้านเสียว ม.7 ต.บ้านเสียว อ.เบญจลักษ์ จ.ศรีสะเกษ พบผู้ต้องหาที่ 1 คือ นายวัตน์ (นามสมมุติ) อายุ 18 ปี 5 เดือน ชาวบ้านหมู่ 13 ต.หนองงูเหลือม อ.เบญจลักษ์ จ.ศรีสะเกษ กำลังขี่จักรยานยนต์โดยไม่สวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้า และไม่สวมหมวกนิรภัย ส่วนผู้ต้องหาที่ 2 คือ นายสิทธิ์ (นามสมมติ) อายุ 18 ปี 4 เดือน ชาวบ้านหมู่ 2 ต.หนองงูเหลือม เป็นผู้โดยสารซ้อนท้ายก็ไม่สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า และไม่สวมหมวกนิรภัยด้วยเช่นกัน จึงเรียกให้หยุดรถและทำการจับกุม
โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตั้งข้อหาจำเลยที่ 1 ว่ากระทำการหรือดำเนินการใดๆ ซึ่งอาจก่อให้เกิดสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดเผยแพร่ออกไปโดยการไม่สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าก่อนออกจากเคหสถาน หรือเดินทางไปในสถานที่สาธารณะ หรือสถานที่ใดๆ, ขับขี่จักรยานยนต์ไม่สวมหมวกที่จัดทำขึ้นโดยเฉพาะเพื่อป้องกันอันตราย, ขับขี่จักรยานยนต์ในขณะที่คนโดยสารไม่สวมหมวกจัดทำขึ้นโดยเฉพาะเพื่อป้องกันอันตราย
ส่วนจำเลยที่ 2 ได้ตั้งข้อหาว่ากระทำการหรือดำเนินการใดๆ ซึ่งอาจก่อให้เกิดสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดเผยแพร่ออกไปโดยการไม่สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าก่อนออกจากเคหสถานหรือเดินทางไปในสถานที่สาธารณะหรือสถานที่ใดๆ, โดยสารรถจักรยานยนต์ ไม่สวมหมวกที่จัดทำขึ้นโดยเฉพาะเพื่อป้องกันอันตราย, ขับขี่จักรยานยนต์ ในขณะที่คนโดยสารไม่สวมหมวกจัดทำขึ้นโดยเฉพาะเพื่อป้องกันอันตราย ซึ่งในชั้นพนักงานสอบสวน ผู้ต้องหาทั้ง 2 ราย ได้ให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา โดยในส่วนที่เกี่ยวกับความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 พนักงานสอบสวนได้เปรียบเทียบปรับแล้ว และได้มีความเห็นควรสั่งฟ้องในฐานความผิดอื่น จากนั้นตนได้นำตัวผู้ต้องหาทั้ง 2 ราย นำส่งพนักงานอัยการจังหวัดกันทรลักษ์ และได้นำตัวส่งฟ้องต่อศาลจังหวัดกันทรลักษ์เพื่อพิจารณาต่อไป
ต่อมาในวันที่ 15 เม.ย. 2563 ศาลจังหวัดกันทรลักษณ์มีคำพิพากษายกฟ้องผู้ต้องหาทั้งหมด ในฐานความผิดกระทำการหรือดำเนินการใดๆ ซึ่งอาจก่อให้เกิดสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดแพร่ออกไปโดยการไม่สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าก่อนออกจากเคหสถานหรือเดินทางไปในสถานที่สาธารณะ หรือสถานที่ใดๆ โดยศาลเห็นว่าความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อนั้น พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มาตรา 34 (6) กำหนดแต่เพียงว่า ห้ามมิให้ผู้กระทำการใดๆ ซึ่งก่อให้เกิดภาวะไม่ถูกสุขลักษณะซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดแพร่ออกไป โดยไม่ได้ให้อำนาจเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อออกคำสั่งกำหนดการกระทำการเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในมาตราดังกล่าว
ประกอบกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 บัญญัติให้บุคคลจะต้องรับโทษในทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายนี้ใช้ในการกระทำความผิดและกำหนดโทษไว้ เมื่อการไม่ใส่หน้ากากอนามัยออกจากเคหสถานไม่มีกฎหมายกำหนดห้ามและกำหนดโทษไว้ ประกอบกับลำพังเพียงแต่การไม่ใส่หน้ากากอนามัยออกจากเคหสถานโดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงอื่นประกอบ ไม่น่าจะเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดแพร่ออกไป การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิด พิพากษายกฟ้อง
ร.ต.อ.กฤษดา นาคสุข พนักงานสอบสวน สภ.เบญจลักษ์กล่าวอีกว่า เมื่อศาลจังหวัดกันทรลักษ์มีคำพิพากษาดังกล่าวออกมาแล้ว คดีนี้เป็นเรื่องที่ทางอัยการจังหวัดกันทรลักษ์จะได้มีการพิจารณาต่อไปว่าจะมีการอุทธรณ์คำสั่งศาลจังหวัดกันทรลักษ์เรื่องนี้หรือไม่อย่างไร เพราะว่าเป็นคดีตัวอย่าง เนื่องจากมีหลายจังหวัดของประเทศไทยที่มีการออกประกาศในลักษณะเดียวกันนี้ว่าจะต้องสวมหน้ากากผ้าก่อนออกจากเคหสถานหรือเดินทางไปในสถานที่สาธารณะหรือสถานที่ใดๆ