กาฬสินธุ์ - นายอำเภอสหัสขันธ์ร่วมประมงกาฬสินธุ์ขนปลานิลสดกว่า 2 ตัน พร้อมกุ้งก้ามกรามออกขายให้ประชาชนในพื้นที่ เผยเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชังที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ปลาตกค้างกว่า 200 ตัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงบ่ายวันที่ 15 เม.ย.ที่ผ่านมา ที่หอประชุมอำเภอสหัสขันธ์ นายตระกูล หนูนิล นายอำเภอสหัสขันธ์ พร้อมด้วยนายวุฒิชัย วังคะฮาต ประมงจังหวัดกาฬสินธุ์ นางสาวกฤษณา เขามีทอง ประมงอำเภอสหัสขันธ์ พร้อมหัวหน้าส่วนราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ร่วมกันขายปลานิลที่เลี้ยงในกระชังของเกษตรกร อ.สหัสขันธ์ ที่ลดราคาเหลือเพียง กก.ละ 50 บาท และกุ้งก้ามกราม กก.ละ 250 บาท หลังเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาและเลี้ยงกุ้งก้ามกรามได้รับผลกระทบอย่างหนักจากปัญหาโรคโควิด-19
ทั้งนี้ จุดอำเภอสหัสขันธ์ขายปลาได้ 1,110 กก. และกุ้งก้ามกรามอีก 150 กก. โดยนายสมบูรณ์ ไชยศรี สาธารณสุขอำเภอ ได้ตั้งจุดคัดกรองตรวจวัดไข้ จุดล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ สำหรับประชาชนผู้เข้าซื้ออย่างเข้มข้นเนื่องจากมีประชาชนสนใจจำนวนมาก
นายฐิติพงษ์ รินโพธิ์สาน ตัวแทนเกษตรกรเลี้ยงปลากระชัง บอกว่า เกษตรกรในพื้นที่ อ.สหัสขันธ์กว่า 30 รายจับกลุ่มเลี้ยงปลาในกระชังด้วยกัน มีบริษัทเอกชนให้การสนับสนุนส่งเสริมการเลี้ยงปลากระชัง ขณะนี้มีปริมาณปลาที่ไม่ได้จับออกขายช่วงนี้กว่า 200 ตัน จึงได้หารือกันระหว่างบริษัทกับเกษตรกร ได้ข้อสรุปจับปลาออกขายตามชุมชนต่างๆ ในราคา กก.ละ 50 บาท โดยทางบริษัทชดเชยให้เกษตรกรอีก กก.ละ 10 บาท
จึงได้ร่วมกับประมงอำเภอสหัสขันธ์ และประมง จ.กาฬสินธุ์ ออกขายปลาตามหมู่บ้านที่ห่างไกลเขตชนบท ซึ่งที่ผ่านมาได้รับความสนใจเป็นอย่างดี แต่ทั้งนี้ก่อนที่จะออกไปขายปลานั้นได้ประสานไปยัง อสม. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และสาธารณสุขในพื้นที่ช่วยตั้งจุดคัดกรองเพื่อความปลอดภัยของผู้ซื้อและผู้ขายในช่วงโควิด-19 แพร่ระบาดให้ด้วย
ด้านนายวุฒิชัย วังคะฮาต ประมงจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า ในช่วงนี้ตลาดปลานิลมีปัญหาหนักมาก เพราะแต่เดิมปลานิล ซึ่งจะนำมาทำปลาเผา ปลานึ่งมะนาว เมี่ยงปลา เป็นเมนูอาหารยอดฮิตตามร้านอาหารและตามตลาดนัดต่างๆ แต่ด้วยปัญหาการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ทำให้ตลาดเหล่านี้ต้องถูกปิดไปโดยปริยาย
ปัจจุบันพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์มีเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชังทั้งหมด 451 ราย มีพื้นที่เลี้ยง172.3 ไร่ จำนวน 12,390 กระชัง ผลผลิตกว่า 13,688 ตันต่อปี มูลค่ากว่า 821 ล้านบาท ขณะที่กุ้งก้ามกราม แหล่งเลี้ยงขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ พื้นที่เลี้ยงกว่า 4,548 ไร่ เกษตรกรกว่า 1,154 ราย ผลผลิต 1,545 ต้นต่อปี มูลค่ากว่า 386 ล้านบาท
แต่ปัญหาแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ทำให้เงินที่เคยสะพัดกว่า 400-500 ล้านบาทนั้นขาดหายไป จึงจำเป็นต้องเปิดจุดจำหน่ายปลาเคลื่อนที่เข้าไปตามหมู่บ้านชุมชนให้เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชังเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนที่กำลังเผชิญกันอยู่