ลำปาง - ผู้ว่าฯ หมูป่าเผยแนวทางนำลำปางปลอดโควิด-19 จนถึงวันนี้..บอกต้องเตรียมแผนเหมือนเป็นพื้นที่สีแดง เผยให้หมอศึกษาข้อมูลทันทีตอนเกิดโรค-ปลุกคนตื่นรู้มาตั้งแต่อู่ฮั่นปิดเมือง จนชาวลำปางกว่า 95% เข้าใจ สกัดลูกหลานก่อนทะลักออกจากกรุง
วันนี้ (1 เม.ย.) แม้ว่าลำปางยังคงเป็นหนึ่งในจังหวัดภาคเหนือที่ไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 แต่นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าฯ ลำปาง หรือผู้ว่าฯ หมูป่า ก็ได้ยกระดับมาตรการเฝ้าระวังเข้มข้นมากขึ้น โดยมีประชุมเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อย่างสม่ำเสมอ พร้อมทั้งปรับมาตรการที่จังหวัดได้ประกาศไปก่อนหน้านี้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ตั้งจุดสกัดคัดกรองหลักทางเข้า-ออกเมืองลำปาง 4 จุด คือ ด่าน อ.แม่พริก ด่านปางมะโอ (อ.แม่ทะ) ด่านอ.ห้างฉัตร และ ด่าน อ.งาว
ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางกล่าวระหว่างลงพื้นที่ตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่เพื่อดูความเรียบร้อยบริเวณด่านตรวจต่างๆ รวม 4 จุดหลัก พร้อมเปิดเผยว่าประชาชนเข้าใจการทำงานเพราะเป็นเรื่องของความปลอดภัย โดยเฉลี่ยแต่ละวันจะมีการตรวจรถประมาณ 2 หมื่นคัน คนราว 3 หมื่นคน
ซึ่งส่วนใหญ่คนจะมาถามว่าเราทำงานอย่างไร ขอเรียนว่าประเด็นตรงนี้ไม่ใช่สาระสำคัญ แต่ทุกคนทำเต็มที่และแต่ละพื้นที่ก็จะมีมาตรการที่เหมาะสมกับพื้นที่ และที่วันนี้ลำปางยังไม่มีผู้ติดเชื้อนั้น เป็นเพราะ 1. ประชาชนร้อยละ 95 สวมหน้ากากอนามัย ร้านค้า ร้านขายของสวมหน้ากากอนามัยทั้งหมด นั่นคือความสำเร็จอันหนึ่ง 2. ประชาชนในพื้นที่ประชาชนเกินกว่าร้อยละ 90 เห็นด้วยกับมาตรการที่ออกไป ถือว่าได้รับความร่วมมือจากประชาชนเป็นอย่างดี
สำหรับมาตรการวันนี้เป็นอย่างไร เพราะทางจังหวัดฯ ไม่เคยแถลงมาตรการออกมาเลยนั้น อยากเรียนว่าที่ผ่านมาทางจังหวัดได้วางแผนการยกระดับเป็นสี คือ ระดับ 1, 2, 3, 4 หรือเป็นสีก็คือ สีเขียว สีเหลือง สีส้ม สีแดง ความหมายคือสีเหลือง หากมีคนติดเมื่อไหร่ถือว่าเริ่มมีโรค หรือใครที่เป็นโรคเข้ามาในพื้นที่ของเราก็จะยกระดับวิกฤตขึ้นมาเป็นสีเหลือง แต่ตอนนี้เราเป็นสีเขียวเพราะยังไม่มีผู้ติดเชื้อ
แต่มาตรการที่วันนี้เราใช้เพิ่มเติมในประกาศฉบับที่ 9 และข้อสั่งการของข้าราชการเองวันนี้เรายกระดับเป็นสีเหลืองแล้ว คือไม่ให้ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ออกนอกพื้นที่เลย ตลอดช่วง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 1. เพื่อไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายข้ามจังหวัด ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2. หากเกิดกรณีฉุกเฉินจะได้มีเจ้าหน้าที่ทำงานได้ตลอดเวลา ประกอบกับที่ผ่านมามีผู้ป่วยเข้าข่ายสงสัย (PUI) วันเดียว 6 ราย ซึ่งหากเพิ่มขึ้นทุกวันทุกคนก็จะเหนื่อยหากไม่คุมให้ดีพอ เมื่อก่อนไม่มีผู้ป่วย PUI เลย แต่วันนี้มีทุกวัน
และหากมีผู้ป่วยถึง 5 เคส ก็จะต้องยกระดับเป็นสีส้ม หรือหากเลวร้ายหรือโชคไม่ดีมีผู้ป่วยเสียชีวิตก็คงต้องเป็นสีแดง ซึ่งทีมงานฝ่ายปกครอง สาธารณสุข ท้องถิ่นจะเข้าใจแนวปฏิบัติกันอยู่แล้วว่าต้องทำอะไรบ้าง เราถึงประสบความสำเร็จตรงนี้
“จากวันนั้นจนถึงวันนี้เราได้ข้อมูลดีๆ จากเพื่อนจังหวัดอื่น เราก็ยกมาใช้ แม้แต่ตัวผู้ว่าฯ รองผู้ว่าฯ ก็จะแบ่งงานเป็นทีม A ทีม B ทั้งสองทีมจะไม่เจอกัน เพราะจะได้ไม่ติดเชื้อพร้อมกัน หากผู้ว่าฯ ติด รองผู้ว่าฯ ก็จะได้ทำงานต่อได้เลย สายปกครอง สายสาธารณสุข หรือหน่วยงานที่อาจจะวิกฤต ก็ต้องแยกการทำงานเป็นสองทีมเช่นกัน ต้องแยกกันทำงาน”
นายณรงค์ศักดิ์บอกว่า การวางแผนได้พูดคุยกันตั้งแต่เกิดที่จีน ยังไม่ระบาดเข้าไทย ก็ได้นำเรื่องนี้มาถกกันว่าที่จีนมันเกิดอะไรขึ้น มันเป็นเคสโรคอุบัติใหม่ แต่เราก็ต้องเรียนรู้จากมัน ให้หมอติดตาม ประสานและติดตามดูข่าวต่างประเทศตลอดและนำมาปรับแผน สิ่งไหนที่เป็นข้อเท็จจริงต้องนำมากลั่นกรองและให้ความสำคัญและนำมาบอกทีมงานเพื่อนข้าราชการให้เข้าใจตรงนี้ก่อน เมื่อเราเข้าใจถึงจะไปบอกประชาชนได้
เช่น คนติดเชื้อ 10 คนอาจจะไม่ป่วยก็ได้ แต่ความเลวร้ายคือ ทุกคนที่ติดเชื้อมีโอกาสแพร่เชื้อสู่คนอื่น และที่น่ากลัวคือ คนที่ติดเชื้อไม่รู้ตัว ที่เรียกว่าผู้ป่วย A และไปเรื่อย 14 วัน จนทำให้เกิดผู้ป่วย B, C ตามมา กว่าจะรู้ตัวก็เกิดผู้ป่วย B เต็มไปหมดแล้ว ก็เอาความรู้ตรงนี้สอน ลงพื้นที่ตั้งแต่วันแรกๆ และทำความเข้าใจ ซึ่งวันนี้คิดว่าชุมชนร้อยละ 95-96 เข้าใจหมดแล้วและร่วมกันรณรงค์
“อย่างวันที่เราเชื่อว่าคนจะกลับจากหลายๆ จังหวัดเข้ามา ปรากฏว่าหลายชุมชนได้บอกกับญาติว่าอย่าเพิ่งกลับมาเลย กลับมาก็จะมาสร้างความเสี่ยงให้แก่ญาติพี่น้อง ซึ่งจุดนี้ถือเป็นประโยชน์และได้ผลในการรณรงค์ ซึ่งรณรงค์มาตั้งแต่กลางกุมภาพันธ์”
ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์บอกอีกว่า เรามีการวางแผนการเตรียม โดยเฉพาะเครื่องมือ สำรวจ รพ.ว่ามีห้องแต่ละประเภทกี่ห้อง เครื่องช่วยหายใจกี่เครื่อง เพราะจากที่ได้พูดคุยจากผู้เชี่ยวชาญของจีน คือว่าหากเชื้อลงปอดแล้วหายใจไม่ทันก็ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจอย่างเดียว ซึ่งจังหวัดลำปางมีเครื่องช่วยหายใจทั้งจังหวัดเพียง 40 เครื่อง ตอนนี้สั่งซื้อเพิ่มอีก 30 เครื่อง ก็หมายความว่าหากเกิดสภาวะวิกฤตขึ้น ณ ตอนนี้เรารับได้เพียง 40 คนเท่านั้น ซึ่งก็จะวางแผนว่าหากเกิดเหตุในระดับไหนจะต้องรับมืออย่างไร โดยการวางแผนจากระดับสีแดงลงมาสีส้ม เหลือง และเขียว
“เราพยายามเรียนรู้โรคนี้มาตั้งแต่ 23 มกราคม ทั้งนี้ก็ยังไม่สำเร็จเพราะเชื่อว่าในวันข้างหน้าเราก็อาจจะพบผู้ติดเชื้อ แต่สิ่งที่เราต้องการคือ แม้จะมีผู้ป่วยที่เกิดขึ้นในพื้นที่กี่รายก็ตาม พ่อแม่พี่น้องส่วนใหญ่ยังมีสุขภาพที่ดี แม้จะมีผู้ป่วยกี่รายก็ตามก็ขออย่าได้ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ เพราะหากรู้ก่อนรักษาก่อนก็หาย เพราะที่ผ่านมาเคสที่ใกล้เคียง TOI เราล็อกตัวหมด พร้อมทั้งบุคคลที่ใกล้ชิดรอบข้างก็ล็อกตัวหมด 14 วัน”
วันเดียวกัน นายก่อพงษ์ โกมลรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ได้เป็นประธานการประชุมศูนย์อำนวยการเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ครั้งที่ 6/2563 เพื่อติดตามสถานการณ์ เฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุม ซักซ้อมความเข้าใจในมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับประกาศของจังหวัด พร้อมทั้งเร่งจัดหาวัสดุอุปกรณ์ให้แก่เจ้าหน้าที่และบุคลากรทางการแพทย์
และให้โรงพยาบาลทุกสังกัดในจังหวัดลำปางวางแผนมาตรการรองรับผู้ที่ป่วยด้วยโควิด-19 โดยให้มีการปรับห้องเพื่อทำการรักษา และสามารถรองรับผู้ป่วยได้ถึง 400 เคส หรือหากมีผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น ทางจังหวัดฯ ก็เตรียมปรับปรุงอาคารศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ (ศูนย์ OTOP) อบจ.ลำปาง เพื่อใช้เป็นโรงพยาบาลสนาม หรือปรับระบบบริการใน รพ.ชุมชนบางแห่งเพื่อรองรับผู้ป่วยที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้
ขณะที่โรงพยาบาลลำปาง ผอ.โรงพยาบาลลำปางสั่งการให้ จนท.ที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์การแพร่กระจายของไวรัสโควิด-19 ที่อาจจะระบาดในพื้นที่ ปรับปรุงอาคารเมตตา ซึ่งอยู่ห่างจากอาคารที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยทั่วไปเป็นสถานที่ตรวจรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งสามารถรองรับผู้ป่วยได้ประมาณ 60 ราย นอกจากนี้ยังให้มีการทำห้อง Negatives pressure จากเดิมที่มีอยู่ 4 ห้อง เพิ่มอีก 8 ห้อง รวมเป็น 12 ห้อง เพื่อรองรับผู้ป่วยที่มีอาการหนัก
รวมทั้งหาทิศทางลมเพื่อความปลอดภัยของ จนท. แต่ด้วยทาง รพ.ลำปางไม่มีอุปกรณ์ในการคำนวณหาทิศทางลม จึงได้ใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้านโดยการจุดธูปเพื่อหาทิศทางของลม โดยจะสังเกตจากควันธูปหากลอยไปทางไหนแสดงว่าลมไปทางนั้น จึงทำให้ จนท.สามารถบอกทิศการไหลเวียนของลมได้ ซึ่งการหาทิศทางลมมีความจำเป็นต่อ จนท.มากเพื่อทำการติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ และลดการกระจายของเชื้อไปสู่ จนท.หากมีผู้ป่วยจำนวนมาก
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มการเฝ้าระวังมากขึ้น จังหวัดลำปางมีหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 31 มีนาคม 2563 เรื่องมาตรการเพื่อความปลอดภัยในการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัส 2019 หรือโรคโควิด-19 ห้ามข้าราชการ พนักงานลูกจ้าง ผู้ปฏิบัติงานในส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐทุกแห่งที่ประจำอยู่ในเขตจังหวัดลำปาง งดหรือชะลอการเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัด ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2563
ทั้งยังได้มีการเปิด facebook ชื่อ ศูนย์ข้อมูล Covid-19 จังหวัดลำปาง ให้กระบวนการสื่อสารข้อมูลที่เกี่ยวข้องกรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) มีความครบถ้วน ครอบคลุมทุกมิติ และสื่อสารข้อมูลที่มาจากแหล่งเดียวกันไปสู่ประชาชนจังหวัดลำปางด้วย
สถานการณ์ปัจจุบันจังหวัดลำปาง ข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563 ยังไม่พบผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค จำนวน 38 คน ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติ ไม่พบสารพันธุกรรมของโรคไวรัสโคโรนา 2019 ทั้ง 38 คน ผู้ที่กลับจากพื้นที่เขตติดโรคอันตรายพื้นที่ที่มีการระบาดอย่างต่อเนื่องและผู้สัมผัสสะสมจำนวน 6,374 ราย กักตัวอยู่ที่บ้าน 14 วัน จำนวน 5,433 ราย พ้นระยะกักตัว 941 ราย