ศูนย์ข่าวศรีราชา - ธุรกิจท่องเที่ยวพัทยา ยื่นข้อเสนอ 6 ทางออกรอดพ้นวิกฤตต้องปิดกิจการต่อ นายกเมืองพัทยา หวังพิจารณาให้การช่วยเหลือก่อนหมดลมหายใจจากวิกฤตโควิด-19 ทำนักท่องเที่ยวเป็น 0 % ระบุหากสถานการณ์ยืดเยื้อแหล่งท่องเที่ยวอาจปิดตัวถึง 80 %
วันนี้ (28 มี.ค.) นายธเนศ ศุภรสหัสรังสี รักษาการประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี เผยถึงสถานการณ์การท่องเที่ยวหลังได้รับผลกระทบจากพิษไวรัสโควิด-19 ว่า กำลังทำให้สภาพเศรษฐกิจ รวมทั้งรายได้ที่เกิดจากการท่องเที่ยวในเมื่องพัทยา ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจโรงแรม และสถานประกอบการต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก จนต้องประกาศปิดกิจการ หรือปรับลดแรงงานและลูกจ้าง
" ต้องยอมรับว่าการท่องเที่ยวของเมืองพัทยา ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เห็นได้จากนักท่องเที่ยวที่นิยมมาพักผ่อนที่เมืองพัทยา อย่างกลุ่มนักท่องเที่ยวรัสเซีย ซึ่งแต่เดิมแม้จะมีปัญหาเรื่องการแพร่ระบาดของโรคฯ แต่ก็ยังมีการจับจองเพื่อเดินทางเข้ามาพักผ่อน แต่หลังจากที่รัฐบาล ออกมาตรการลดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 อย่างเข้มข้น ทั้ง การที่ต้องมีหลักประกันสุขภาพ 1 แสนเหรียญ หรือการรับรองทางการแพทย์ ทำให้นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ยกเลิกการเดินทางทั้งหมด จนทำให้ปัจจุบันยอดนักท่องเที่ยวในเมืองพัทยา เป็น 0 % "
รักษาการประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี ยังเผยอีกว่ามาตรการของภาครัฐถือเป็นสิ่งจำเป็น และผู้ประกอบธุรกิจก็เห็นดีไม่มีการขัดข้องแต่ประการใด พร้อมขอร่วมแก้ไขการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 แต่จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นคาดว่าจะทำให้มีผู้ประกอบการและแหล่งท่องเที่ยวกว่า 80 % โดยเฉพาะในกลุ่ม SME ที่ต้องปิดตัวลงชั่วคราว หรือถาวร
และอาจมีการขายกิจการทิ้งให้ชาวต่างชาติหากสถานการณ์ยังยืดเยื้อ แต่ในเบื้องต้นเชื่อว่าการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดน่าจะใช้เวลาอย่างน้อย 10-12 เดือน
ทั้งนี้ ธุรกิจด้านการท่องเที่ยวเป็นธุรกิจที่ใช้แรงงานจำนวนมาก อีกทั้งยังมีภาระค่าใช้จ่ายคงที่สูง ได้แก่ เงินเดือนและสวัสดิการของพนักงาน โดยเฉพาะเรื่องของค่าจ้างซึ่งแม้จะมีการปิดตัวชั่วคราว แต่ผู้ประกอบการก็ยังต้องแบกรับภาระอยู่ในอัตรา 75 % ของเงินเดือน รวมถึงเงินประกันสังคมที่แต่เดิมมีการชำระในสัดส่วน 5 % สำหรับผู้ประกอบการและแรงงานผู้ประกันตน แต่ขณะนี้ได้มีการปรับลดมาเหลือเพียง 4 % ขณะที่รายได้ของผู้ประกอบการก็กลายเป็น 0 %
" นี่ยังไม่นับรวมค่าใช้จ่ายด้านระบบสาธารณูปโภค ทั้งไฟฟ้า ประปา ภาษีต่างๆ ได้แก่ ภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ตลอดจนภาษีท้องถิ่นอื่นๆ เช่นภาษีที่ดิน ภาษีป้าย ค่าธรรมเนียม เป็นต้น ซึ่งเรื่องนี้แม้ภาครัฐจะได้กำหนดมาตรการต่างๆเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในภาคธุรกิจออกมาเป็นระยะๆ แต่ก็ยังไม่เพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "การรักษาสภาพคล่อง" และ "การดำรงอยู่ของกิจการ" ส่งผลให้แหล่งท่องเที่ยวธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวและโรงแรมต่างๆทุกระดับเริ่มประกาศปิดกิจการ หยุดดำเนิน การอย่างต่อเนื่อง"
นายธเนศ ยังเรียกร้องให้ภาครัฐหันมาใส่ใจและช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบทุกกลุ่มอย่างจริงจัง เช่นเดียวกับนโยบายในต่างประเทศ เพื่อให้ทั้งในองค์กร แรงงานและผู้ได้รับผลกระทบสามารถดำรงชีวิตหรือประคองกิจการไปได้จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลง
ยกตัวอย้างเช่น กระทรวงแรงงาฯ ที่ยังยืนยันว่าผู้ประกอบการยังคงต้องแบกภาระเรื่องเงินเดือนและเงินประกัน สังคมตามที่กำหนดต่อไป และจะไม่ปรับลดให้เหลือ 50 % ของรายได้พนักงานหากผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่เข้าข่าย 4 ประการ คือ 1.การถูกเลิกจ้าง 2.การลาออก 3.มีผู้ป่วยในสถานประกอบการ และ 4.ราชการสั่งปิดกิจการ
ที่ดูแล้วขัดแย้งกับ มติ ครม.ที่ออกมาเมื่อวันที่ 24 มี.ค.ที่ผ่านมา ที่นิยามของคำว่า “เหตุสุดวิสัย” ให้หมายรวม ถึงการปิดกิจการเพราะผลกรทบจากโรคติดต่อด้วย นอกจากจะเป็นภัยพิบัติ อย่าง อัคคีภัย วาตภัย อุทกภัย หรือธรณีพิบัติ
ยื่นข้อเสนอ 6 ทางรอดให้ นายกเมืองพัทยา เร่งเยียวยา
นายธเนศ บอกว่าจากปัญหาที่กล่าวมาล่าสุดตัวแทนจากสมาคม องค์กรภาคธุรกิจการท่องเที่ยว ได้เข้าพบ นายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา เพื่อเสนอ 6 มาตรการในการเยียวและลดกระทบต่อภาคธุรกิจ เพื่อพิจารณาและเสนอต่อภาครัฐอย่างจริงจัง
ประกอบด้วย 1.กรณีหยุดกิจการชั่วคราวจากผลกระทบดังกล่าว ให้ทางกองทุนประกันสังคมจ่ายชดเชยลูกจ้างในอัตรา 70 % เป็นระยะเวลาสูงสุด 180 วัน
2. ให้ยกเว้นการจ่ายเงินสมทบประกันสังคมทางฝั่งนายจ้างและลูกจ้างเป็นระยะเวลา 180 วัน โดยให้กระทรวงแรงงานเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ
3. ให้ยกเว้นการจัดเก็บภาษีที่ดินภาษีป้ายภาษีบำรุงท้อง ที่ในปี พ.ศ. 2563 โดยให้กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ
4.ขอลดอัตราดอกเบี้ย 50% จากธนาคารพาณิชย์ที่ทางเอกชนกู้อยู่ โดยภาครัฐเป็นผู้ชดเชยส่วนลดให้ผู้รับผิดชอบโดยกระทรวงการคลัง
5.ของดจ่ายค่าน้ำประปาและค่าไฟฟ้าไปจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายเข้าสู่สภาวะปกติ ซึ่งกรณีนี้เป็นมาตรการของประเทศต่างๆที่ประกาศใช้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน
และ 6.ค่าใช้จ่ายในการซื้อผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรคและอุปกรณ์สำหรับการดำเนินการป้องกัน COVID-19 สามารถนำมาหักลดหย่อนค่าใช้จ่ายได้ 3 เท่า
โดยเชื่อว่าข้อเสนอตามมาตรการดังกล่าว จะสามารถช่วยและลดความตึงเครียดให้ภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการที่ทำรายได้ให้กับประเทศในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก ซึ่ง นายกเมืองพัทยา ได้รับทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและจะนำเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีและทางนายกรัฐมนตรีพิจารณาในลำดับต่อไป