ศูนย์ข่าวขอนแก่น - นักวิจัย มทร.อีสานวิทยาเขตขอนแก่นแนะทางออกแก้ปัญหาหน้ากากอนามัยขาดแคลน โดยใช้สิ่งประดิษฐ์ง่ายๆ กล่องฆ่าเชื้อด้วยความร้อนแสงยูวีจากหลอดไฟอินแคนเดสเซ็นต์ ใช้เวลาฆ่าเชื้อโรคทำความสะอาดหน้ากากไม่เกิน 15 นาที ไม่ต้องวิ่งหาหน้ากากใหม่ใช้แล้วทิ้ง
ผศ.ดร.ศักดิ์ระวี ระวีกุล อาจารย์สาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.อีสาน วิทยาเขตขอนแก่น เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การระบาดอย่างรุนแรงของไวรัสโควิด-19 ที่หลายประเทศกำลังเผชิญ รวมถึงประเทศไทยด้วย สิ่งหนึ่งที่จะช่วยป้องกันการแพร่ระบาดได้คือการสวมหน้ากากอนามัย แต่ก็ประสบปัญหาการขาดแคลน และความมั่นใจในการสวมหน้ากากว่าสะอาดปราศจากเชื้อโรคจริงไหม
ทั้งนี้ ตนได้เสนอแนวคิดหาทางออกในประเด็นปัญหาดังกล่าวด้วยสิ่งประดิษฐ์ง่ายๆ คือการสร้างกล่องฆ่าเชื้อ โดยใช้ความร้อนและแสงยูวีจากหลอดไฟในการฆ่าเชื้อโรค ซึ่งไม่ใช่หลอด LED แต่ว่าเป็นหลอดอินแคนเดสเซ็นต์ ซึ่งเป็นหลอดไฟรุ่นเก่า ลักษณะทรงกลมมีไส้ เปิดแล้วจะร้อนมาก ในสมัยก่อนจะใช้อย่างแพร่หลาย สามารถหาซื้อได้ทั่วไป
หลอดอินแคนเดสเซ็นต์จะมีคุณสมบัติคือ มีค่าความเข้มของแสงเท่ากับแสงยูวี ให้ความร้อนออกมาจากหลอด เมื่อเราทำกล่องขึ้นมาจะทำให้เกิดความร้อนในจุดที่เจาะจง ทำให้ความร้อนระอุอยู่ในกล่อง วิธีการง่ายๆ ด้วยการใช้แผ่นฟอยล์ที่เป็นวัสดุเหลือใช้มาบุที่ฐานกล่อง ส่วนอีกชิ้นทำฝาครอบ
เมื่อเรากลับเข้าบ้านก็สามารถเอาหน้ากากนี้แขวนไว้ในกล่องเพื่อฆ่าเชื้อ ปิดฝาแล้วเปิดไฟฉายแสงจะทำให้เกิดความร้อนทั่วถึง ทิ้งไว้ประมาณ 10-15 นาทีเพื่อฆ่าเชื้อโรค ก็จะได้หน้ากากที่ปลอดเชื้อ เอามาสวมใส่ได้อย่างสบายใจ
“ท่ามกลางวิกฤตการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างนี้ ถ้ามีหน้ากากไว้ใช้ก็จะอุ่นใจขึ้น ฝากถึงพี่น้องประชาชนทุกคนได้เอาวิธีการนี้ไปใช้และดูแลรักษาสุขภาพตัวเองด้วย” ผศ.ดร.ศักดิ์ระวีกล่าว