รพ.วชิรฯ เปิดตัว “เตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อแบบแรงดันลบ” นวัตกรรมด้านความปลอดภัย เพื่อรับมือ COVID-19
วันนี้ (17 มี.ค.) ที่โรงพยาบาลวชิรพยาบาล โดยคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช จัดแถลงข่าว “นวัตกรรมด้านความปลอดภัย เพื่อรับมือ COVID-19” รศ.นพ.อนันต์ มโนมัยพิบูลย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช กล่าวว่า ในช่วง 3 เดือน หลังจากไวรัสโควิด-19 ที่มีการระบาดในสาธารณรัฐประชาชนจีน ทีมงานอาจารย์และบุคลากรของคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล ร่วมมือ อาจารย์ในส่วนงานอื่นๆ รวมถึงภาคเอกชน ได้ช่วยกันศึกษาพัฒนาคิดค้นนวัตกรรมหรือสิ่งประดิษฐ์แบบง่ายๆ นำมาประยุกต์ใช้ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ และประชาชน อีกทั้งยังช่วยบรรเทาสถานการณ์ การขาดแคลนเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ เช่น เตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อแบบแรงดันลบ ห้องตรวจรักษาผู้ป่วยติดเชื้อแบบแรงดันลบ
ผศ.นพ.อนุแสง จิตสมเกษม รองคณบดีมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช กล่าวเสริมว่า การจัดทำเตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อแบบแรงดันลบ ได้มีการปรับปรุงรถเคลื่อนย้ายผู้ป่วยปกติให้เหมาะสมสำหรับการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่มีอาการติดเชื้อ เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนของเชื้อขณะเคลื่อนย้ายผู้ป่วย โดยรถเคลื่อนย้ายดังกล่าว มีการควบคุมแรงดันอากาศ ให้เป็นลบ หรือ Negative Pressure โดยดูดอากาศ บริเวณที่นอนของผู้ป่วยผ่านกรองเชื้อโรคระดับ HEPA filter แล้วปล่อยอากาศออกสู่ภายนอก เพื่อป้องกันอันตรายต่อผู้เคลื่อนย้ายและบุคคลภายนอก
“การระดมสมองจากหลายภาคส่วนเพื่อประดิษฐ์นวัตกรรมเพื่อรองรับผู้ติดเชื้อ และป้องกันไม่ให้แพร่เชื่อไปยังบุคลากรทางการแพทย์นี้ ใช้งบในการประดิษฐ์ประมาณ 50,000-60,000 บาท ถ้าหากสั่งซื้อจากต่างประเทศ ราคาประมาณ 7-8 แสนบาท แล้วยิ่งสถานการณ์เช่นนี้ เราต้องช่วยกันป้องกัน ส่วนขั้นตอนการประดิษฐ์และวัสดุจะดำเนินการเผยแพร่ลงเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเพื่อให้สถานพยาบาลอื่นๆ นำไปปรับใช้ได้” ผศ.นพ.อนุแสง กล่าวต่อว่า ถ้าหากสถานการณ์ปกติสามารถนวัตกรรมนี้ใช้กับผู้ป่วยวัณโรค หรือ ผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจ ได้เช่นกัน
ส่วนห้องตรวจรักษาผู้ป่วยติดเชื้อแบบแรงดันลบ จะเป็นห้องที่มีการปรับปรุงจากวัสดุที่มีของคณะแพทย์ ให้เป็นห้องที่มีแรงดันที่ติดลบมากกว่า 2.5 pka เพื่อให้เหมาะสำหรับตรวจผู้ป่วยที่มีอาการติดเชื้อ ป้องกันเชื้อแพร่กระจายสู่ภายนอก โดยอากาศที่ไหลออกจากห้อง จะผ่านกรองเชื้อโรค ระดับ HEPA Filter ทำให้อากาศที่ปล่อยออกมาปลอดภัย ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ COVID-19 เพิ่มความปลอดภัยให้บุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง จากการพัฒนานวัตกรรมดังกล่าวข้างต้น นอกจากจะใช้ต้นทุนต่ำแล้ว ยังช่วยประหยัดงบประมาณของหน่วยงานที่ถูกว่าการจัดหาจากต่างประเทศ แต่มีประสิทธิภาพสูงไม่แพ้กัน รวมทั้งหน่วยงานอื่นสามารถนำไปใช้เป็นต้นแบบเพื่อดูแลผู้ป่วยต่อไป