ศูนย์ข่าวศรีราชา - เริ่มเห็นแนวทางจัดการปัญหาขยะการเกษตรอย่างเป็นระบบ หลังผู้บริหาร อิชิตัน กรุ๊ป เปิดทางองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมหารือแนวทางผุดโรงผลิตผลิตภัณฑ์ชีวภาพทดแทนพลาสติก ด้วยการรับซื้อขยะจากภาคเกษตรเป็นวัตถุดิบสำคัญ ลดปัญหาการเผาทำลาย แก้ PM 2.5
จากปัญหามลพิษและฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM2.5 รวมทั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้เกิดการขาดแคลนหน้ากากอนามัยเพื่อใช้สำหรับป้องกันตนเองจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสดังกล่าว ส่งผลต่อการตื่นตัวของสังคมและประชาชนในการหันมาดูแลและใส่ใจสิ่งแวดล้อมที่มีให้ดียิ่งขึ้น เพราะหากไม่มีการแก้ไขปัญหาต่างๆ อย่างจริงจังก็จะยิ่งทำให้สถานการณ์ที่เป็นอยู่มีความรุนแรงมากขึ้นเป็น 2 เท่านั้น
เมื่อเร็วๆ นี้ นายตัน ภาสกรนที ผู้บริหาร อิชิตัน กรุ๊ป ได้เป็นประธานในการรับฟังการนำเสนอข้อมูล ระบบ และแผนการดำเนินธุรกิจโรงผลิตผลิตภัณฑ์ชีวภาพทดแทนพลาสติก เพื่อหาความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างอิชิตัน กรุ๊ป และ บจก.มาสเตอร์ คอนเซิร์น โดยมีคณะผู้บริหารรุ่นใหม่ของอิชิตัน กรุ๊ป และตัวแทนจากมาสเตอร์คอนเซิร์น รวมทั้งคณะทำงานองค์กรสื่อสารด้านการขยะ Rubbish Communication เข้าร่วม
โดยการนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 นอกจากจะมีการรับซื้อขยะจากภาคการเกษตรในส่วนของข้าวโพดที่เหลือใช้ไม่ว่าจะเป็นลำต้น ใบ และซังข้าวโพด เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสิ่งของและผลิตภัณฑ์ชีวภาพเพื่อมาทดแทนการใช้พลาสติกตามนโยบายด้านสิ่งแวมล้อมของรัฐบาล
ลดปัญหาการเผาทำลายขยะในภาคการเกษตรหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตจนเกิดเป็นมลพิษทางอากาศ และยังสามารถช่วยเหลือเกษตรกรในการเพิ่มรายได้จากการจำหน่ายขยะภาคการเกษตร เพื่อช่วยสร้างงานและสร้างรายได้จากการทำการเกษตรให้เพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ กลุ่มผู้นำเสนอข้อมูล ระบบและแผนการดำเนินธุรกิจโรงผลิตผลิตภัณฑ์ชีวภาพทดแทนพลาสติก ยังนำเสนอเรื่องแผนการลงทุนก่อสร้างโรงงานสำหรับผลิตผลิตภัณฑ์ชีวภาพ ในงบประมาณรวมกว่า 400 ล้านบาท ในเขตพื้นที่ จ.ชลบุรี โดยจะเป็นบริเวณที่มีเส้นทางรถไฟพาดผ่านเนื่องจากต้องมีความสะดวกในเรื่องของการขนส่งวัตถุดิบหลังจากรับซื้อจากเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด ซี่งส่วนใหญ่เกษตรกรกว่าร้อยละ 80 ทำการเพาะปลูกข้าวโพดอยู่ในพื้นที่จังหวัดภาคเหนือของไทย
อย่างไรก็ตาม นายตัน ภาสกรนที ผู้บริหารอิชิตัน กรุ๊ป ได้แสดงความสนใจถึงโอกาสในการร่วมทำธุรกิจ และยังได้ซักถามข้อสงสัยในบางประเด็นเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจร่วมกัน เพื่อนำข้อมูลไปพิจารณา ศึกษาและวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้และการเติบโตทางธุรกิจ
ก่อนจะนัดหมายคณะทำงาน บจก.มาสเตอร์ คอนเซิร์น และ RubbishCom ร่วมพูดคุยในเชิงลึกเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป