ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - ค่ายทหารไม่พร้อมรับ ย้าย “ผีน้อย” โคราชไปกักตัวเฝ้าระวังโรคโควิด-19 ที่ อ.วังน้ำเขียว พร้อมเร่งหาสถานที่สำรองเพิ่ม และประสานขอรับสนับสนุนอาหารจากซีพี
วันนี้ (10 มี.ค.) ที่ศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้เชื้อไวรัสโควิด-19 ห้องประชุมหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อม นพ.นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) นครราชสีมา และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมทางไกลผ่านจอภาพ หรือระบบ VDO CONFERENCE กับนายอำเภอ 32 อำเภอ ในระเบียบวาระมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ของกลุ่มผู้ใช้แรงงานไทยที่เดินทางกลับจากเกาหลีใต้และประเทศกลุ่มเสี่ยง รวมทั้งการสำรวจฐานข้อมูลผู้ผลิตและการส่งเสริม สนับสนุนการผลิตหน้ากากอนามัยโดยภาครัฐและแสวงหาความร่วมมือกับภาคเอกชน
ทั้งนี้ ข้อมูลที่เกี่ยวกับจำนวนและภูมิลำเนาเดิมของผู้ใช้แรงงานที่เดินทางกลับมาก่อนวันที่ 7 มีนาคม 2563 ของสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมืองนครราชสีมา (ตม.นม) สสจ.นครราชสีมา และฝ่ายปกครองทั้ง 32 อำเภอ ปรากฏไม่ตรงกัน บางรายแจ้งเฉพาะมีที่พักอาศัยอยู่ในจังหวัดนครราชสีมาเท่านั้น
นอกจากนี้ เดิมกองทัพภาคที่ 2 ได้อนุญาตให้ใช้อาคารที่พักภายในกองพันทหารเสนารักษ์ ที่ 22 (พัน.สร.22) และอาคารของกองพันทหารเสนารักษ์ที่ 3 กองบัญชาการช่วยรบที่ 2 (บชร.2) 3 ค่ายสุรธรรมพิทักษ์ กองทัพภาคที่ 2 (ทภ.2) เป็นที่สถานที่รองรับกักตัวกลุ่มผู้ใช้แรงงานไทยที่เดินทางกลับจากเกาหลีใต้และประเทศกลุ่มเสี่ยงชั่วคราว ซึ่งมีห้องพักเป็นสัดส่วนรวม 80 ห้อง ปรากฏว่ามีปัญหาการบริหารจัดการและอาหาร น้ำดื่ม ไม่สามารถจัดหาได้ทันท่วงที จึงต้องยกเลิก
นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา มอบให้ สสจ.นครราชสีมาสำรวจหาสถานที่สำรอง โดยขอใช้ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุและประชาชน อ.วังน้ำเขียว และประสานขอสนับสนุนอาหารจากเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี และสำรวจสถานที่สำรองเพิ่มเติม เตรียมขอใช้ค่ายลูกเสือห้วยบ้านยาง ต.โคกกรวด อ.เมือง จ.นครราชสีมา, อาคารเรียนของสถานศึกษาที่ปิดการเรียนการสอนและตั้งอยู่ห่างไกลจากชุมชน ส่วนกำลังดูแล รักษาความปลอดภัยและป้องกันการหลบหนี กำหนดให้ใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจ 2 นาย และกำลังอาสาสมัครรักษาดินแดน (อส.) ของแต่ละอำเภอรับผิดชอบตามอำนาจหน้าที่