xs
xsm
sm
md
lg

“ครูแก้ว” เร่งช่วยผู้เลี้ยงปลานิลลุ่มน้ำสงคราม เสียหายเบื้องต้นกว่า 20 ล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นายศุภชัย โพธิ์สุ ส.ส.นครพนม เขต 1 พรรคภูมิใจไทย  และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ลงพื้นที่ตรวจสอบเหตุปลานิลน็อคน้ำตาย
นครพนม - “ครูแก้ว” ลงพื้นที่ช่วยชาวประมงเลี้ยงปลานิลกระชังในลุ่มน้ำสงคราม เร่งประสานหน่วยงานเกี่ยวข้องช่วย เบื้องต้นพบไม่เข้าเกณฑ์จ่ายเงินเยียวยา หลังปลานิลในกระชังลุ่มน้ำสงครามตายกว่า 300 ตัน สูญเสียทางเศรษฐกิจกว่า 20 ล้านบาท

ภายหลังเกิดฝนหลงฤดูตกต่อเนื่องในพื้นที่ จ.นครพนมช่วง 2 -3 วันที่ผ่านมา ทำให้สภาพน้ำในลำน้ำสงครามเปลี่ยนแปลงกะทันหัน ทั้งสภาพน้ำ อุณหภูมิ รวมถึงปริมาณออกซิเจนลดลง ทำให้ปลานิลเลี้ยงในกระชังในพื้นที่ อ.นาหว้า อ.ศรีสงคราม และ อ.ท่าอุเทน น็อกน้ำตายจำนวนมหาศาล


ล่าสุดวันนี้ (9 มี.ค. 63) รายงานข่าวแจ้งว่า ปลานิลเลี้ยงในกระชังยังได้รับผลกระทบต่อเนื่อง ปลานิลยังทยอยตายจำนวนมาก โดยนายสำราญ รื่นนาค ประมงจังหวัดนครพนม ได้ประสานเจ้าหน้าที่ประมงอำเภอ พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ให้ลงพื้นที่ตรวจสอบ ให้คำแนะนำชาวบ้าน พร้อมวางมาตรการป้องกันช่วยเหลือ ลดปริมาณการตายลงมากที่สุด

เบื้องต้น นายศุภชัย โพธิ์สุ ส.ส.นครพนม เขต 1 พรรคภูมิใจไทย และรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 พร้อมด้วยนายสำราญ รื่นนาค ประมงจังหวัดนครพนม ได้ประสานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบหาทางช่วยเหลือไม่ให้ปลาตายเพิ่มขึ้น

จากการตรวจสอบของประมงจังหวัดนครพนมพบว่ามีปลานิลในกระชังตายไม่ต่ำกว่า 300 ตัน หนักสุดในพื้นที่บ้านหาดกวน ต.ไชยบุรี อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม มีปลาในกระชังตายไม่ต่ำกว่า 100 ตัน คิดเป็นมูลค่าที่ความเสียหายไม่ต่ำกว่า 15-20 ล้านบาท โดยเป็นปลาที่มีขนาดน้ำหนักประมาณ 1-1.2 กิโลกรัม ที่กำลังเตรียมส่งขายสู่ตลาด มีราคาซื้อขายประมาณกิโลกรัมละประมาณ 50-60 บาท ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านขาดทุนหนัก บางรายเป็นหนี้นับล้าน

เจ้าหน้าที่ได้ร่วมกับเกษตรกรเร่งเก็บปลานิลที่ตายขึ้นจากน้ำนำมาทำปลาร้า และทำปุ๋ยหมัก แต่ด้วยจำนวนมากเกินจึงต้องหาทางนำไปทำลายทิ้งด้วยการฝังกลบ เพราะปลาเริ่มส่งกลิ่นเน่าเหม็น เริ่มสร้างมลพิษทางน้ำ จึงต้องเร่งกู้ปลาที่ตายขึ้นจากกระชังให้เร็วที่สุด ส่วนการเยียวยาช่วยเหลืออยู่ระหว่างหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ยังไม่สามารถเยียวยาชดเชยได้เพราะไม่เข้าหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเยียวยาช่วยเหลือตามระเบียบราชการ ทำได้เพียงหามาตรการป้องกัน

ด้านนางสาวนารี โพธิ์สา ประมงอำเภอศรีสงคราม จ.นครพนม เปิดเผยว่า เบื้องต้นทางประมงจังหวัดนครพนมได้ประสานระดมเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบหาสาเหตุ พบว่าเกิดจากน้ำเปลี่ยนแปลงสภาพรวดเร็วหลังฝนตกหนักช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา จากปกติระดับน้ำต่ำ อุณหภูมิสูง แต่หลังฝนตกทำให้อุณหภูมิน้ำลดกะทันหัน มีสภาพขุ่น ปริมาณออกซิเจนต่ำ ทำให้ปลานิลในกระชังปรับสภาพไม่ทันน็อกน้ำตาย




จากการสำรวจเบื้องต้นพื้นที่ 3 อำเภอ คือ อ.นาหว้า อ.ศรีสงคราม และ อ.ท่าอุเทน พบว่ามีปลานิลในกระชังตายไม่ต่ำกว่า 300 ตัน ซึ่งการช่วยเหลืออยู่ระหว่างการหารือจากหลายหน่วยงาน ทางประมงได้เข้าไปดูแล ให้คำแนะนำเกษตรกร ให้เร่งนำปลาส่งขาย รวมถึงลดปริมาณการเลี้ยง และย้ายปลาในกระชังออกให้มีปริมาณพอเหมาะ ป้องกันอออกซิเจนต่ำเกิดปลาน็อกน้ำตามมา รวมถึงควรลดอาหาร ควรให้อาหารปลาจำนวนน้อยแต่บ่อยขึ้น หมั่นสังเกตอาการปลา ที่สำคัญหากได้ขนาดพอขายให้เร่งขายลดความเสียหาย


กำลังโหลดความคิดเห็น