xs
xsm
sm
md
lg

คืบหน้าไฟไหม้ป่าดอยอินทนนท์ หน.อุทยานเผยดับแล้วอยู่ด้านล่างไม่รุนแรงตามภาพ เสียหายราว 50 ไร่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - คืบหน้าไฟไหม้ป่าดอยอินทนนท์ หัวหน้าอุทยานฯ ระบุจุดเกิดเหตุไม่ได้อยู่บนดอยแต่เป็นป่าเต็งรังด้านล่าง ไม่ได้รุนแรงตามภาพที่ปรากฏ จนท.ควบคุมได้ตั้งแต่เมื่อคืน เสียหายประมาณ 50-60ไร่ คาดสาเหตุจุดไฟหาของป่า






รายงานจากจังหวัดเชียงใหม่แจ้งว่า ตามที่ช่วงค่ำวานนี้ (5 มี.ค. 63) โซเชียลมีเดียมีการเผยแพร่ภาพว่าเกิดไฟไหม้ป่าบริเวณดอยหัวเสือ ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจากภาพดูเหมือนว่าเกิดไฟไหม้ป่าอย่างรุนแรงมาก โดยศูนย์เฝ้าระวังป้องกันแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันอำเภอจอมทองชี้แจงว่าจุดที่เกิดไฟป่าไม่ใช่บริเวณดอยหัวเสือแต่เป็นพื้นที่ดอยห้างผี ซึ่งห่างจากดอยหัวเสือหลายกิโลเมตร เป็นพื้นที่ที่เคยมีการบริหารจัดการเชื้อเพลิง เกิดการเผาไหม้ไปแล้วครั้งหนึ่ง เชื้อเพลิงจึงมีปริมาณน้อยทำให้ไฟครั้งนี้ไม่รุนแรงอย่างที่เห็นในภาพ และไฟเกิดเป็นหย่อมๆ ไม่ลุกลามต่อเนื่อง สามารถดับได้เอง เจ้าหน้าที่สถานีควบคุมไฟป่าดอยอินทนนท์ได้เข้าควบคุมไฟ และสามารถควบคุมไฟได้แล้ว คาดว่าไฟจะดับสนิทในช่วงเช้า


วันนี้ (6 มี.ค. 63) นายกริชสยาม คงสตรี หัวหน้าอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ เปิดเผยว่า ไฟไหม้ป่าที่เกิดขึ้นดังกล่าวนั้นไม่ได้เกิดในพื้นที่บริเวณบนยอดดอยอินทนนท์ แต่เป็นพื้นที่ป่าเต็งรังที่อยู่ทางด้านล่าง โดยเกิดไฟไหม้ช่วงเวลาประมาณ 18.00 น.ของวานนี้ ซึ่งเจ้าหน้าที่ของสถานีควบคุมไฟป่าฯ และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ได้เข้าดับและควบคุมไว้ได้แล้ว


อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าต่อมาในช่วงเวลาประมาณ 20.00 น.ไฟได้เกิดปะทุขึ้นมาอีกครั้ง และมีการถ่ายภาพนำไปเผยแพร่ ซึ่งหลังจากที่ไฟปะทุขึ้นอีกครั้งนั้นทางเจ้าหน้าที่ได้เดินเท้าเร่งเข้าดับไฟใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมงก็สามารถควบคุมได้ และจากนั้นได้เฝ้าระวังจนกระทั่งถึงเช้าซึ่งไม่มีการปะทุขึ้นอีก ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการสำรวจความเสียหาย เบื้องต้นประเมินว่ามีพื้นที่ถูกไฟไหม้ประมาณ 50-60 ไร่ สาเหตุคาดว่าน่าจะมาจากการจุดไฟหาของป่า ทั้งนี้ ย้ำว่าสถานการณ์ไม่ได้รุนแรงตามที่ปรากฏในสื่อโซเชียล ขณะเดียวกันยืนยันว่าสถานการณ์ไฟป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์เวลานี้ไม่ได้มีความรุนแรงแต่อย่างใด โดยเฉพาะพื้นที่ด้านบนเนื่องจากมีความอุดมสมบูรณ์และความชุ่มชื้นสูง ยกเว้นด้านล่างที่เป็นป่าเต็งรังที่อาจจะมีความชุ่มชื้นต่ำกว่ามาก








กำลังโหลดความคิดเห็น