xs
xsm
sm
md
lg

พิษโควิด-19! น้ำโขงตอนบนแทบร้าง ท่องเที่ยวทรุดยาว คนจีนหาย-ลาวขยายเวลาปิดกาสิโน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สามเหลี่ยมทองคำ/เชียงราย - ไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาด กระทบการค้า-ท่องเที่ยวลุ่มน้ำโขงตอนบนต่อเนื่อง เรือสินค้าเคยเทียบท่าฯ เชียงแสนปีละนับหมื่นลดลงเห็นได้ชัด-เรือท่องเที่ยวจอดเทียบฝั่งระนาว หลังคนจีนหาย-ลาวขยายเวลาปิดกาสิโน


หลังการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อการค้าชายแดนและการท่องเที่ยวทางเรือในแม่น้ำโขงตอนบนอย่างต่อเนื่อง การขนส่งจากท่าเรือ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ไปยังเมืองท่าต่างๆ เหนือสามเหลี่ยมทองคำขึ้นไป ทั้งที่ท่าเรือสบหรวย ประเทศพม่า ที่เชื่อมไปถึงมณฑลยูนนาน สป.จีน หรือท่าเรือริมแม่น้ำล้านช้าง (แม่น้ำโขง) ของจีนเองที่เคยคึกคักในอดีต ได้หยุดขนส่งสินค้าเป็นส่วนใหญ่ เรือสินค้าสัญชาติต่างๆ ที่เคยหมุนเวียนแวะจอดที่ท่าเรือเชียงแสนปีละกว่า 10,000 เที่ยวก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัด


ขณะที่กลุ่มดอกงิ้วคำ กลุ่มทุนจีนผู้รับสัมปทานพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ตรงข้าม อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ได้ประกาศขยายเวลาปิดพื้นที่ ปิดท่าเรือห้ามคนเข้า-ออก ไปจนถึง 10 มี.ค. 63 จากเดิมที่ประกาศปิดพื้นที่ระหว่างวันที่ 9-25 ก.พ. รวมทั้งยกเลิกการจัดงานเทศกาลดอกงิ้วบาน ครั้งที่ 20 ไปอย่างไม่มีกำหนดเพื่อเลี่ยงปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ด้านการท่องเที่ยวบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ อ.เชียงแสน ติดต่อกับประเทศพม่าและเมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ขณะนี้ซบเซาอย่างหนัก จากเดิมจะมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากเดินทางไปยังบริเวณสามเหลี่ยมทองคำซึ่งมีท่าเรือเอกชนตั้งเรียงรายอยู่ริมฝั่งไทย เพื่อนั่งเรือทั้งขนาดเล็กและใหญ่ออกจากฝั่งไปท่องเที่ยวกลางแม่น้ำโขง และส่วนใหญ่จะแวะขึ้นฝั่งที่เกาะดอนซาว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำกันอย่างคึกคัก แต่ ณ ขณะนี้แทบไม่มีนักท่องเที่ยวแล้ว


นายพรเลิศ พรหมปัญญา เจ้าของท่าเรือกัปตันสามเหลี่ยมทองคำ เปิดเผยว่า ปกติเรือท่องเที่ยวแม่น้ำโขงจะรับส่งนักท่องเที่ยวจากฝั่งไทยไปยังท่าเรือเกาะดอนซาว เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ ฝั่ง สปป.ลาว แต่ขณะนี้ฝั่งลาวได้ปิดท่าเรือทั้งหมดไปจนถึงวันที่ 10 มี.ค. จึงทำให้นักท่องเที่ยวที่เดิมมีไม่มากอยู่แล้วยิ่งน้อยลงไปอีก ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการเรือท่องเที่ยวขนาด 40 ที่นั่งที่มีประมาณ 40-50 ลำ แต่ถ้ารวมเรือเล็กทั่วไปจะมีกว่า 200 ลำ ที่ต้องกู้ยืมเงินมาลงทุนและหมุนเวียนในธุรกิจ

“หลังเกิดโรคระบาด ทำให้เหลือเรือขนาด 40-50 ที่นั่ง ให้บริการอยู่ไม่ถึง 10 ลำ และกำลังได้รับผลกระทบอย่างหนักเพราะนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นชาวจีน และเมื่อไม่มีชาวจีนก็ไม่มีลูกค้า เพราะนักท่องเที่ยวชาติอื่น เช่น สิงคโปร์ ยุโรป มาเลเซีย ฯลฯ และคนไทย มีไม่ถึง 5% ของที่เคยมี ทำให้เดิมเคยออกเรือวันละไม่ต่ำกว่า 18 เที่ยว ก็ลดลงเหลือไม่กี่เที่ยว ต้องปรับลดพนักงานและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ลดจำนวนเที่ยวเรือจากเดิมวันละ 5 ลำ สัปดาห์หน้าก็คงจะลดเหลือ 2 ลำเพื่อความอยู่รอด ส่วนในระยะยาวก็ไม่รู้จะแก้ไขปัญหาอย่างไรเพราะเป็นเรื่องของโรคระบาด”


กำลังโหลดความคิดเห็น