xs
xsm
sm
md
lg

ปภ.ตราด เร่งแผนแก้ปัญหาขาดน้ำหลังพบปริมาณน้ำ 7 อ่างฯ หลักมีใช้แค่ พ.ค.63

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตราด - ปภ.ตราด เร่งมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งทั้งในระยะสั้นและยาว หลังพบปริมาณน้ำใน 7 อ่างเก็บน้ำหลักพอใช้เพื่อการเกษตรและอุปโภคบริโภคได้ถึงแค่เดือน พ.ค.63 ซ้ำยังมีหลายพื้นที่เสี่ยงขาดน้ำ
 
วันนี้ (16 ก.พ.) นายฐิตนันท์ อุดมสุข หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดตราด ได้ออกมาเปิดเผยถึงมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งของ จ.ตราด ว่า นอกจากจะมีการจัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งจังหวัดตราด ตั้งแต่วันที่ 16 ม.ค.2563 แล้ว ยังได้มีการจัดตั้งคณะทำงานติดตามสถานการณ์แก้ไขปัญหาภัยแล้ง จำนวน 3 คณะย่อย
 
ประกอบด้วย คณะทำงานกลุ่มพยากรณ์ คณะทำงานกลุ่มบริหารจัดการน้ำ และคณะทำงานกลุ่มปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ เพื่อติดตามสภาพอากาศ สภาพน้ำท่า และระดับน้ำในแหล่งเก็บน้ำขนาดต่างๆ ก่อนทำการวิเคราะห์ ประเมินน้ำต้นทุน วางแผนการใช้น้ำทั้งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค การรักษาระบบนิเวศ เกษตรกรรม
 
พร้อมทั้งยังได้แบ่งพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบ และมอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ ดำเนินภารกิจ ตลอดจนจัดหน่วยสนับสนุนให้ครอบคลุมในแต่ละพื้นที่

และจากการติดตามข้อมูลของโครงการชลประทานตราด พบว่า ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำทั้ง 7 แห่ง ในพื้นที่จนถึงปัจจุบัน (15 ก.พ.2563) มีความจุรวม 129.189 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 70.19 จากปริมาณความจุรวม 184.06 ล้าน ลบ.ม. ทำให้คาดได้ว่า จ.ตราด จะมีน้ำพอใช้ไปจนถึงสิ้นเดือน พ.ค.2563
 
“ทั้งนี้ ในช่วงปลายเดือน ก.พ.ของทุกปี มักจะเกิดปัญหาแหล่งน้ำหมู่บ้านแห้งและไม่มีน้ำเพื่อการเกษตร และการอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอ ปัจจุบัน โครงการชลประทานจึงเริ่มทำการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำทั้ง 7 แห่งสู่ แหล่งน้ำกลางของหมู่บ้าน เพื่อให้เกษตรกรและกลุ่มผู้ใช้น้ำได้สูบเข้าพื้นที่เกษตรกรรม”
 
หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.ตราด ยังกล่าวอีกว่า จากการสำรวจยังพบว่าในปีนี้มีพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร และอาจประสบปัญหาภัยแล้งรวม 4 อำเภอ 26 ตำบล 167 หมู่บ้าน หรือคิดเป็นร้อยละ 64 ของหมู่บ้านทั้งหมด
 
โดยการดำเนินงานแก้ไขปัญหาในระยะเร่งด่วนซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วคือ การจัดทำฝายคันดินใน ต.วังตะเคียน อ.เขาสมิง ภายใต้งบประมาณ จำนวน 3.76 แสนบาท ขององค์การบริหารส่วนตำบลวังตะเคียน และดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 27 ม.ค.ที่ผ่านมา
 
นอกจากนั้น ยังได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำจากแหล่งน้ำต้นทุนสู่แหล่งน้ำกลาง ที่ได้มีการสำรวจแหล่งน้ำต้นทุนไว้แล้ว และจะให้ความช่วยเหลือเป็นค่าพลังงานไฟฟ้าของกลุ่มผู้ใช้น้ำต่อไป
 
“เนื่องจากแหล่งน้ำหลักทั้ง 7 แห่งใน จ.ตราด มีระบบการกระจายน้ำไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ ซึ่งการแก้ไขปัญหาในระยะยาวคือ การเพิ่มจำนวนแหล่งน้ำต้นทุน เช่น การสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยสะตอ การสร้างอ่างเก็บน้ำคลองแอ่ง และจะเร่งขยายเขตชลประทานในพื้นที่เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำบริโภคให้แก่ประชาชนต่อไป” หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.ตราด กล่าว










กำลังโหลดความคิดเห็น