xs
xsm
sm
md
lg

ศปป.4 กอ.รมน.สนธิกำลังกรมอุทยานฯ ลุยยึดที่ดินริมเขื่อนหลังเจ้าสัวพันล้านยึดครอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กาญจนบุรี - ศปป.4 กอ.รมน. สนธิกำลังกรมอุทยานฯ ลุยยึดที่ริมทะเลสาบอ่างเก็บน้ำเขื่อนวชิราลงกรณ ร่วม 200 ไร่ หลังเจ้าสัวระดับพันล้านเข้ายึดครอง




ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนโยบายของนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้ดำเนินการขั้นเด็ดขาดกับนายทุนผู้บุกรุกป่า

ล่าสุด วันนี้ (14 ก.พ.) ที่จุดชมวิวป้อมปี่ ต.ปรังเผล อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี คณะเจ้าหน้าที่นำโดย พ.อ.พงษ์เพชร เกษสุภะ หัวหน้าชุดปฏิบัติการ ศปป.4 กอ.รมน. นายนิพนธ์ จำนงสิริศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) นายเทวินทร์ มีทรัพย์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาแหลม และคณะเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง พร้อมกำลังรวมตัวปล่อยแถวออกตรวจปราบปรามการกระทำผิด ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาแหลม บริเวณริมทะเลสาปอ่างเก็บน้ำเขื่อนวชิราลงกรณ ท้องที่หมู่ 4 ต.ปรังเผล อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี

ทั้งนี้ พ.อ.พงษ์เพชร เกษสุภะ หัวหน้าชุดปฏิบัติการ ศปป.4 กอ.รมน.เปิดเผยว่า สืบเนื่องมาจาก นายมน (นามสมมติ) กรรมการบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีทุนจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ถึง 1 พันล้านบาท กับพวก รวม 6 คน ประกอบด้วย ดร.ปัญ (นามสมมติ) น.ส.ศิริ (นามสมมติ) นายภูมิ (นามสมมติ) และนายไพ (นามสมมติ) ทั้งหมดเป็นชาว กทม. ได้ร่วมกันสั่งการให้ นายศักดิ์ (นามสมมติ) และนายวัน (นามสมมติ) ชาวบ้านในพื้นที่ ต.ปรังเผล อ.สังขละบุรี เป็นตัวแทนในการนำชี้ตรวจสอบรังวัดแปลงที่ดินตามมติคณะรัฐมนตรี 30 มิถุนายน 2541 ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาแหลม จังหวัดกาญจนบุรี ของคนอื่น แล้วครอบครองเปลี่ยนชื่อมาเป็นของตัวเอง

จากนั้นนายมน กับพวกแอบนำรายชื่อดังกล่าวเข้าคณะกรรมการพิสูจน์สิทธิการครอบครองที่ดินของราษฎรในพื้นที่อนุรักษ์ จังหวัดกาญจนบุรี แต่คณะกรรมการมีมติไม่รับรอง เพราะที่ดินตามมติคณะรัฐมนตรี 30 มิถุนายน 2541 มีหลักเกณฑ์กำหนดไว้ ให้ช่วยเหลือราษฎรเดิม ผ่อนปรนให้อยู่อาศัยและทำกินอยู่ในที่เดิม ก่อนหรือหลังประกาศเขตสงวนหวงห้ามครั้งแรก และต้องทำประโยชน์ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ด้วยบุคคลภายนอกที่มีการซื้อขาย เปลี่ยนมือ หรือโอนสิทธิมาจากราษฎรเดิม ไม่ได้รับประโยชน์ หรือไม่มีสิทธิได้รับการผ่อนปรนในที่ดินตามมติคณะรัฐมนตรี 30 มิถุนายน 2541 ดังกล่าว และการกระทำการซื้อขาย เปลี่ยนมือ หรือโอนสิทธิ ในที่ดินตามมติคณะรัฐมนตรี 30 มิถุนายน 2541 นั้น

ทำให้เกิดการบุกรุกป่าเพื่อหาที่ดินทำกินเพิ่มเติมจากการขายไป หรือโอนไป เกิดวัฏจักรการบุกรุกป่าไม่มีสิ้นสุด เป็นการกระทบกระเทือนต่อการรักษาป่า และสิ่งแวดล้อม ซึ่งหลักเกณฑ์ด้านป้องกันทรัพยากรป่าไม้ หรืออื่นๆ ตามมติคณะรัฐมนตรี 30 มิถุนายน 2541 บัญญัติไว้ว่า การกระทำใดๆ ที่เป็นการกระทบกระเทือนต่อการรักษาป่า หรือสิ่งแวดล้อมให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเฉียบขาด

หลังจากคณะเจ้าหน้าที่ได้รวบรวมพยานหลักฐานจนครบแล้ว คณะเจ้าหน้าที่ฯ จึงได้เดินทางมาตรวจยึดแปลงที่ดินดังกล่าวในบริเวณอุทยานแห่งชาติเขาแหลม ขณะตรวจยึดแปลงที่ดินไม่พบผู้ใดอยู่ในที่เกิดเหตุ จึงได้ตรวจยึดรังวัดแปลงที่ดิน ดังนี้ 1.ตรวจยึดรังวัดแปลงที่ดินของนายมน ได้จำนวน 45 ไร่ 31 ตารางวา 2.ตรวจยึดรังวัดแปลงที่ดินของ ดร.ปัญ ได้จำนวน 47 ไร่ 3 งาน 72 ตารางวา 3.ตรวจยึดรังวัดแปลงที่ดินของ น.ส.ศิริ ได้ จำนวน 26 ไร่ 2 งาน 91 ตารางวา

4. ตรวจยึดรังวัดแปลงที่ดินของ น.ส.ศิริวรรณ ได้ 46 ไร่ 96 ตารางวา 5.ตรวจยึดรังวัดแปลงที่ดินนายไพ ได้ 25 ไร่ 2 งาน 75 ตาราวา และ 6.ตรวจยึดรังวัดแปลงที่ดินนายภูมิ ได้ จำนวน 5 ไร่ 3 งาน 10 ตารางวา รวมเนื้อที่ทั้งหมด จำนวน 197 ไร่ 1 งาน 75 ตาราวา

พ.อ.พงษ์เพชร เกษสุภะ หัวหน้าชุดปฏิบัติการ ศปป.4 กอ.รมน.เปิดเผยต่อว่า หลังตรวจวัดแล้วเสร็จคณะเจ้าหน้าที่จึงบันทึกเรื่องราวนำส่งพนักงานสอบสวน สภ.สังขละบุรี เพื่อให้สืบสวนสอบสวนหาตัวนายมน กับพวกรวม 6 คน รวมทั้งติดตามตัวนายศักดิ์ และนายวัน ผู้ที่ให้การสนับสนุนมาดำเนินคดีตามกฎหมายอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 มาตรา 19 (1)

“ฐานยึดถือ ครอบครองในที่ดินในอุทยานแห่งชาติโดยมิได้รับอนุญาต ซึ่งมีโทษจำคุกตั้งแต่ 4 ปีถึง 20 ปี ปรับตั้งแต่ 4 แสนถึง 2 ล้านบาท และคณะเจ้าหน้าที่อาศัยอำนาจตามมาตรา 35 (1) กฎหมายอุทยานแห่งชาติ 2562 ได้ติดป้ายประกาศห้ามมิให้นายมนตรี มังกรกนก กับพวกหรือบุคคลใดกระทำการใดๆในที่ดินแปลงดังกล่าวจนกว่าคดีถึงที่สุด หากฝ่าฝืนประกาศต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท หรือทั้งจำและปรับ และค่าปรับรายวันอีกวันละ 1 หมื่นบาท จนกว่าจะยุติการกระทำนั้น

สาหรับมูลค่าความเสียหายของทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทาลาย สูญหาย หรือเสียหายไปตามมาตรา 40 พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 นั้น คณะพนักงานเจ้าหน้าที่จะแจ้งให้พนักงานสอบสวนทราบโดยเร็ว เนื่องจากต้องดำเนินการตามขั้นตอนในการประเมินค่าเสียหายทางสิ่งแวดล้อมบางประการหลังการทาลายพื้นที่ป่าไม้ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 3 วัน








กำลังโหลดความคิดเห็น