xs
xsm
sm
md
lg

ชาวประมงชลบุรีรวมตัวเตรียมพร้อมรับมือโครงการถมทะเลแหลมฉบังในพื้นที่ 3,000 ไร่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวศรีราชา - ชาวประมงชายฝั่งชลบุรี รวมตัวหารือเพื่อเตรียมพร้อมรับมือ หลังภาครัฐสั่งให้มีการศึกษาความเป็นไปได้โครงการถมทะเลแหลมฉบังในพื้นที่ 3,000 ไร่

นายรังสรรค์ สมบูรณ์ ชาวประมงชายฝั่งชลบุรี เผยว่า ขณะนี้ตัวแทนชาวบ้าน และประมงพื้นบ้าน ประมงชายฝั่ง จ.ชลบุรี ได้มีการหารือร่วมกันเกี่ยวกับผลกระทบจากโครงการถมทะเล 3,000 ไร่ ตามที่ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีการนำเสนอคณะรัฐมนตรี ขออนุมัติให้การนิคมอุสาหกรรมแห่งประเทศไทย ทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการดังกล่าว เพื่อรองรับการลงทุนส่วนขยายโครงการปิโตรเคมีของกลุ่มเอ็กซอน โมบิล คอร์ปอเรชั่น

“พวกเราเชื่อว่า ถ้ามีการถมทะเลก็เท่ากับหายนะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพราะจะสูญเสียทรัพยากรทางทะเลอย่างถาวร ตอนนี้ชายฝั่งทะเลที่นี่ไม่สามารถรับอะไรได้อีกแล้ว อ่าวบางละมุง แหลมฉบัง อ่าวอุดม ถือเป็นผืนน้ำแหล่งสุดท้ายของอาชีพพวกเรา ที่เราถอยไม่ได้อีกแล้ว ที่ผ่านมา ชุมชนและชาวบ้านรอบพื้นที่ที่มีการพัฒนาจากโครงการอีสเทิร์น ซีบอร์ด พวกเราต้องเผชิญต่อผลกระทบทั้งในด้านทรัพยากร สิ่งแวดล้อม มาเกือบ 30 ปีแล้ว โดยที่ภาครัฐไม่ได้ให้ความสำคัญกับมาตรการชดเชย เยียวยาที่ชัดเจน”

นายรังสรรค์ กล่าวอีกว่า โดยเฉพาะอาชีพการทำประมงพื้นบ้านที่หลายครอบครัวต้องสูญเสียไป เพราะในอดีตแนวเขตทะเลชายฝั่งอ่าวบางละมุง-อ่าวอุดม ถือว่าอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรสัตว์ทะเล และที่นี่ยังถือเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงหอยแมลงภู่ที่ขึ้นชื่อ สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนเฉลี่ย 280 ล้านบาทต่อปี และหากรวมกับสัตว์ทะเลอื่นๆ ที่จับส่งขาย สามารถสร้างรายได้ให้ชาวประมงพื้นบ้านในชุมชนสูงถึงกว่า 400 ล้านบาทต่อปี ตลอดช่วงที่ถูกคุกคามจากอุตสาหกรรมอย่างหนัก พื้นที่หากินทางทะเลลดลง อีกทั้งสัตว์น้ำชายฝั่งหายไปจำนวนมาก สิ่งที่เกิดขึ้นแทบไม่เคยได้รับการเหลียวแลและเยียวยาอย่างเหมาะสมจากภาครัฐ ดังนั้น หากมีโครงการถมทะเลเกิดขึ้นอีก ก็ยิ่งเป็นการซ้ำเติมปัญหาที่ชาวบ้านที่นี่แบกรับกันมาตลอด

ขอยืนยันอีกครั้งว่า ภาครัฐควรยุติแนวคิดที่จะสร้างปัญหาซ้ำเติมชาวบ้าน และสิ่งแวดล้อม หากภาครัฐยังไม่สนใจเสียงของชาวประมงที่ได้รับผลกระทบ ที่ต้องสูญเสียอาชีพทำกิน พวกเราจะไม่ยอมอีกต่อไป จะต่อสู้ให้ถึงที่สุด เพราะจนถึงขณะนี้ยังไม่มีหน่วยงานใดลงพื้นที่เพื่อสอบถามความคิดเห็นของชาวประมงเลย และเมื่อปลายปี 2562 ที่ผ่านมา พวกเราได้ทำหนังสือถึงคณะกรรมาธิการการที่ดินทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แจ้งถึงความเดือดร้อนและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากโครงการดังกล่าวเกิดขึ้น

สำหรับพื้นที่ทางการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กำลังศึกษาความเหมาะสม มีทั้งหมด 4 แห่ง คือ พื้นที่ที่ 1 เป็นพื้นที่บนบก เนื้อที่ประมาณ 1,200 ไร่ พื้นที่นี้มีผู้ถือกรรมสิทธิ์การเช่ารวม 7 ราย จำนวน 14 แปลง ปัจจุบันเป็นคลังสินค้า ลานจอดรถยนต์และรถบรรทุกเพื่อการส่งออกและอู่ต่อเรือ สิทธิการเช่าเหลือตั้งแต่ 1-15 ปี

พื้นที่ที่ 2 เป็นพื้นที่ชุมชนและพื้นที่เชิงพาณิชย์ ประกอบไปด้วย โรงกลั่นน้ำมัน และชุมชนที่กระจายตัวและแทรกตัวอยู่ระหว่างโรงกลั่นน้ำมัน คลังน้ำมัน และคลังก๊าซ พื้นที่รวมประมาณ 5 พันไร่

พื้นที่ที่ 3 พื้นที่ถมทะเลในบริเวณเขาบ่อยาและเขาภูไบ ด้านทิศเหนือของท่าเรือพาณิชย์แหลมฉบัง หรือบริเวณอ่าวอุดม เบื้องต้น กำหนดพื้นที่เป้าหมายการถมทะเลประมาณ 2,500-3,000 ไร่

พื้นที่ที่ 4 เป็นพื้นที่การก่อสร้างแหล่งเก็บตะกอนในอนาคต ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการการก่อสร้างขยายท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังระยะที่ 3 เนื้อที่ประมาณ 1,875 ไร่ บริเวณนี้คือด้านหลังของเกาะสีชัง


กำลังโหลดความคิดเห็น